วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(13) Pioneer in modern neuroscience

Santiago Ramón y Cajal (1852-1934)


เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1852 ที่หมู่บ้านในเมือง Petilla de Aragón ประเทศสเปน เป็นบุตรชายของ Justo Ramón กับ Antonia Cajal บิดาของเขาเป็นศัลยแพทย์ประจำหมู่บ้าน

ในวัยเด็กเขาถูกย้ายโรงเรียนบ่อยเพราะพฤติกรรมที่ไม่ดีและมีแนวคิดต่อต้านเผด็จการ ตอนอายุ 11 ปีเขาถูกจำคุกเนื่องจากใช้ปืนใหญ่ที่สร้างขึ้นมาเองทำลายประตูเมือง

พ่อพาเขาไปฝึกงานเป็นช่างทำรองเท้าและช่างตัดผมแต่เขาอยากเป็นศิลปินมากกว่าเพราะหลงใหลในการวาดรูป (เห็นได้จากภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ของเขาในเวลาต่อมา)

เขาเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่ง Zaragoza และจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1873 หลังจบการศึกษาเขาถูกเกณฑ์เข้ากองทัพสเปนและถูกส่งไปยังคิวบา 2 ปี ระหว่างที่อยู่คิวบาเขาป่วยเป็นมาลาเรียและวัณโรค

ค.ศ. 1875 เขากลับมาทำงานที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่ง Zaragoza

ค.ศ. 1879 เขาแต่งงานกับ Silvería Fañanás García ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 7 คนเป็นลูกสาว 4 คนและลูกชาย 3 คน

ค.ศ. 1881 เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่ง Valencia และ ค.ศ. 1883 เขาได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตใน Madrid

ค.ศ. 1885 เขาทำงานอย่างหนักในช่วงการระบาดของอหิวาตกโรค รัฐบาลจึงมอบรางวัลให้เขาเป็นกล้องจุลทรรศน์ Zeiss รุ่นใหม่

ปลายปี ค.ศ. 1887 เขาย้ายไปที่ Barcelona และต่อมา ค.ศ. 1892 เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่ง Madrid ซึ่งเขาทำงานจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1934

จุดสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1887 เมื่อจิตแพทย์ชาวสเปน Luis Simarro Lacabra (1851-1921) เดินทางกลับมาจากปารีสและนำบางอย่างมาให้เขาดู มันคือตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองที่ย้อมด้วยสารละลาย silver chromate เทคนิคใหม่ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเมื่อ 14 ปีก่อนโดยแพทย์ชาวอิตาลี Camillo Golgi (1834-1926)

จากวันนั้นทำให้ Cajal มุ่งมาศึกษาด้าน neurohistology เขาศึกษาจนพบว่าระบบประสาทไม่ได้เป็นตาข่าย (reticular theory) อย่างที่เชื่อกัน แต่ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมากเป็นหน่วยพื้นฐานและเซลล์เหล่านี้สื่อสารกันตรงรอยต่อที่เรียกว่า synapse ต่อมา ค.ศ. 1891นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเยอรมัน Heinrich Wilhelm Gottfried von Waldeyer-Hartz (1836–1921) ตั้งชื่อเซลล์นี้ว่าเซลล์ประสาท (neuron) และเรียกทฤษฎีของ Cajal ว่า neuron doctrine

เซลล์ประสาทประกอบไปด้วยตัวเซลล์กับส่วนที่ยื่นออกจากตัวเซลล์เรียกว่า dendrite และ axon ซึ่ง Cajal ระบุว่าการส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทเกิดในทิศทางเดียวคือจาก dendrite ไปยัง axon กฎนี้มีชื่อว่า Law of Dynamic Polarization

ผลงานดังกล่าวทำให้ Golgi และ Cajal ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 1906 ร่วมกัน

ภรรยาของเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1930 ส่วนเขาเสียชีวิตในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1934 ที่ Madrid ประเทศสเปน

Cajal ถือเป็นผู้บุกเบิกประสาทวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ (Pioneer in modern neuroscience) ตลอดชีวิตของเขามีผลงานตีพิมพ์มากกว่า 100 ชิ้นและค้นพบสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายเช่น Interstitial cell of Cajal, Cajal bodies และ Cajal-Retzius cells เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: