วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(109) Father of neurosurgery

Harvey Williams Cushing (1869-1939)


เกิดวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1869 ที่คลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐฯ เป็นบุตรชายคนที่หกและเป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดา 10 คนของ Henry Kirke Cushing กับ Betsey Maria Williams Cushing บิดาของเขา, ปู่ของเขาคือ Erastus (1802-1893) และปู่ทวดคือ David (1768-1814) ล้วนแต่เป็นแพทย์ โดยเขาเป็นแพทย์รุ่นที่สี่ของตระกูล

ค.ศ. 1891 เขาจบ Bachelor of Arts จากมหาวิทยาลัยเยล จากนั้นก็เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดตามรอยบิดาและพี่ชายคือ Edward ทำให้เขาเป็นแพทย์คนที่ห้าของตระกูล

ค.ศ. 1894 ขณะเป็นนักเรียนแพทย์เขาร่วมกับนักเรียนแพทย์อีกคนคือ Ernest Amory Codman (1869-1940) พัฒนาแบบบันทึกชีพจร อุณหภูมิและการหายใจระหว่างผ่าตัดซึ่งช่วยในการเฝ้าระวังผู้ป่วยขณะให้ยาสลบ เรียกว่า “The ether chart” ซึ่งเป็นแบบบันทึกทางวิสัญญีวิทยาแบบแรก นวัตกรรมนี้ช่วยลดอัตราการตายจากการให้ยาสลบได้ ซึ่งต่อมากลายเป็นบันทึกมาตรฐานทางวิสัญญีวิทยา

เขาจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1895 ด้วยเกียรตินิยมชั้น cum laude และเป็น internship ที่โรงพยาบาลทั่วไปแมสซาชูเซตส์ในบอสตัน

ค.ศ. 1896 เขาเทรนด้านศัลยศาสตร์ที่โรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์เป็นเวลาสี่ปีภายใต้ William Stewart Halsted (1852–1922) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง

ค.ศ. 1900 – 1901 เขาเดินทางไปดูงานที่ยุโรป ที่เมือง Bern ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาได้ทำวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) กับความดันกะโหลกศีรษะ (cranial pressure) ภายใต้การชี้แนะของ Theodor Kocher (1841-1917) และยังได้ทำงานร่วมกับ Hugo Kronecker (1839-1914) พบว่าความดันในกะโหลกศีรษะที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นตามไปด้วย

จากนั้นเขาก็ไปยังอังกฤษได้ทำงานร่วมกับ Victor Horsley ในกรุงลอนดอนและ Sir Charles Scott Sherrington (1857-1952) ที่เมืองลิเวอร์พูล แต่ที่สำคัญสุดคือได้รู้จักจนสนิทกับ Sir William Osler (1849 – 1919) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งอายุศาสตร์ นอกจากนี้เขายังได้ไปที่ศูนย์ของศัลยศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนีและอิตาลี

ค.ศ. 1901ที่มหาวิทยาลัยแห่ง Pavia ประเทศอิตาลี เขาได้รับ sphygmomanometer ที่พึ่งปรับปรุงใหม่โดยกุมารแพทย์ชาวอิตาลี Scipione Riva-Ricci (1863–1937) จึงนำกลับมาที่จอห์นฮอปกินส์ในปี ค.ศ. 1902 และใช้เป็นอีกสิ่งหนึ่งเพิ่มเติมในการเฝ้าระวังผู้ป่วยขณะให้ยาสลบ

วันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1902 เขาแต่งงานกับ Katharine Stone Crowell ซึ่งรู้จักกันตั้งแต่สมัยเด็ก ทั้งสองมีบุตรด้วยกันห้าคนคือ William Harvey Cushing, Mary Benedict Cushing, Betsey Cushing, Henry Kirke Cushing และ Barbara Cushing

ค.ศ. 1903 – 1912 เขาเป็นรองศาสตราจารย์ด้านศัลยศาสตร์ที่จอห์นฮอปกินส์

ค.ศ. 1910 เขารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์ของโรงพยาบาล Peter Bent Brigham ในสังกัดฮาร์วาร์ดและเริ่มมุ่งมาในด้านประสาทศัลยศาสตร์

ช่วงเวลานั้นผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดสมองมักจะเสียชีวิตจากภาวะเลือดออก แม้แต่ศัลยแพทย์ที่ฝีมือดีที่สุดอัตราการตายของผู้ป่วยก็ยังสูงถึง 50% (แสดงว่าที่เหลือผ่าแล้วตายมากกว่า) ค.ศ. 1910 Cushing พัฒนา silver wire clip (Cushing’s clip) ขึ้นมาเพื่อห้ามเลือดที่ออกจากหนังศีรษะและปรับปรุงเทคนิคการเปิดกะโหลกเพื่อเข้าถึงสมอง

ค.ศ. 1912 เขาตีพิมพ์ตำราชื่อ “The Pituitary Body and its Disorders” ริเริ่มใช้ศัพท์คำว่า hypo- และ hyperpituitarism และเสนอว่าต่อมใต้สมอง (pituitary gland) ควบคุมการเติบโต (growth) นำไปสู่การค้นพบ growth hormone ในเวลาต่อมา

ค.ศ. 1912 เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านศัลยศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด

ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเขารับใช้ชาติโดยเข้าร่วมหน่วยแพทย์ทหารบกสหรัฐฯ (U.S. Army Medical Corps) โดยเป็นศัลยแพทย์ที่ American Expeditionary Forces ในยุโรป เขาได้รักษา Lt. Edward Revere Osler (บุตรชายคนเดียวของ Sir William Osler) ซึ่งได้รับบาดเจ็บหนักจากสมรภูมิรบใน Ypres แต่ไม่รอด โดย Osler อยู่ข้างลูกชายจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

ค.ศ. 1926 เขาร่วมกับนักชีวฟิสิกส์ชาวอเมริกัน William T. Bovie (1882-1958) คิดค้น Bovie's electrosurgical unit และ Cushing เริ่มใช้จริงในห้องผ่าตัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ 1926

ค.ศ. 1926 เขาได้รับรางวัล Pulitzer Prize for Biography or Autobiography จากการประพันธ์หนังสือชื่อ “The Life of Sir William Osler” ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1925

ค.ศ. 1930 เขาได้รับเหรียญรางวัลลิสเตอร์ (Lister medal)

เขาเกษียณในปี ค.ศ. 1932 ขณะอายุ 63 ปี ผู้ที่มารับตำแหน่งต่อคือศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน Elliot Carr Cutler (1888–1947)

ค.ศ. 1932 หลังเกษียณ Cushing รายงานถึงกลุ่มอาการที่สัมพันธ์กับ basophilic cells ในต่อมใต้สมอง เขาตั้งสมมติฐานว่ากลุ่มอาการดังกล่าวเกิดจาก adenoma ซึ่งสร้าง growth hormone มากกว่าปกติ บทความชื่อ “The Basophil Adenomas of the Pituitary Body and Their Clinical Manifestations (Pituitary Basophilism)” ของเขาตีพิมพ์ในปีนั้นเอง โรคนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Cushing’s disease และกลุ่มอาการดังกล่าวเรียกว่า Cushing’s syndrome

นอกจากนี้เขายังเป็นเจ้าของ Cushing's phenomenon ที่ว่าเมื่อความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นจะกดเบียด cerebral blood vessels ทำให้ systemic blood pressure สูงขึ้น, ชีพจรช้าลงและการหายใจผิดปกติ (สามอย่างนี้เรียกว่า Cushing’s triad)

ค.ศ. 1933 1937 เขารับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยเยล ต่อมาเขาเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของกล้ามเนื้อหัวใจตายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1939 ใน New Haven รัฐคอนเนตทิคัต ผลการชันสูตรศพพบว่ามีการอุดตันของ posterior coronary artery และ femoral artery ทั้งสองข้าง นอกจากนี้ยังพบว่าเขามี colloid cyst ขนาด 1 เซ็นติเมตรที่ third ventricle ด้วย ศพของเขาได้รับการฝังที่สุสาน Lake View ในคลิฟแลนด์

แม้จะไม่มีชื่อเป็นหัตถการทางศัลยศาสตร์ใด ๆ เลยแต่ผลงานสำคัญเรื่องการจัดการกับภาวะเลือดออกระหว่างการผ่าตัดสมองโดยใช้ clip และการนำ electrocautery มาใช้ในการผ่าตัดสมองช่วยลดอัตราการตายลงเหลือน้อยกว่า 10% ทำให้ Cushing ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประสาทศัลยศาสตร์ (Father of neurosurgery)

17 มิถุนายน ค.ศ. 1988 ที่คลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ บ้านเกิดของ Cushing เขาได้รับเกียรตินำรูปไปทำเป็นแสตมป์ 45 เซนต์ หนึ่งในชุด Great Americans series

ไม่มีความคิดเห็น: