วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(91) ขาเทียมกับรางวัลแมกไซไซ

Pramod Karan Sethi (1927-2008)


เกิดวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1927 ที่เมือง Benares (ปัจจุบันคือ Varanasi) ประเทศอินเดีย

Sethi (ออกเสียงว่าเศรษฐี) เป็นบุตรคนที่ 6 ในบรรดา 8 คนของ Nihal Karan Sethi ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงที่ Benares Hindu University กับ Maina Jain

เขาเรียนที่เมือง Agra โดยศึกษาที่ St. John's School (1932-1933), Balwant Rajput Intermediate College (1934-1942) และ Agra College (1942-1944)

เขาสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่สมัยเรียน เขากล่าวว่าแนวทางของนักเรียนที่สนใจวิทยาศาสตร์คือถ้าเก่งด้านคณิตศาสตร์ก็จะไปเป็นวิศวกรแต่ถ้าไม่เก่งด้านนั้นก็จะไปทางชีววิทยาและสุดท้ายก็เป็นแพทย์ เนื่องจากเขาไม่มีพรสวรรค์ในด้านคณิตศาสตร์เขาจึงไปเรียนแพทย์นั่นเอง

ค.ศ. 1949 เขาจบแพทย์จากวิทยาลัยแพทย์ Sarojini Naidu ใน Agra

ค.ศ. 1951 เขาแต่งงานกับ Sulochana Patni ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 4 คน เป็นบุตรชาย 1 คนและบุตรสาว 3 คนชื่อ Lata, Harsh, Nita และ Amrita

เขาเทรนศัลยศาสตร์ทั่วไปที่Agra ภายใต้ G. N. Vyas และจบปริญญาโทด้านศัลยศาสตร์ในปี ค.ศ. 1952

เขาไปศึกษาต่อที่เมือง Edinburgh ประเทศสกอตแลนด์และได้รับ Fellow of the Royal College of Surgeons (F.R.C.S.) ในปี ค.ศ. 1954 เขากลับอินเดียในเดือนธันวาคมและได้รับตำแหน่งอาจารย์ที่โรงพยาบาล Sawai Man Singh ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของวิทยาลัยแพทย์ในเมืองไชยปุระ (Jaipur)

ตามกฎของแพทยสภาของอินเดีย ค.ศ. 1958 โรงพยาบาลซึ่งเขาทำงานอยู่จำเป็นต้องเปิดภาควิชาออร์โธปิดิคส์ เขาได้รับมอบหมายให้ไปเป็นหัวหน้างานออร์โธปิดิคส์

เนื่องจากไม่ได้เทรนมาทางออร์โธปิดิคส์ งานของเขาส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับการกายภาพบำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยที่ถูกตัดแขน/ขา (amputee) โดยเขาร่วมงานกับช่างซึ่งออกจากการเรียนตั้งแต่เกรดสี่ชื่อ Ram Chandra Sharma ในการทำขาเทียม

Sethi พบว่าขาเทียมในแบบตะวันตกนั้นมีราคาแพงและไม่เหมาะสมกับชาวบ้านที่ต้องทำงานในนาซึ่งต้องลุยฝนลุยโคลน พวกเขาจึงร่วมกันออกแบบขาเทียมใหม่แต่ก็ล้มเหลวคือถ้าไม่แตกง่ายก็เทอะทะเกินไป

ค.ศ. 1968 วันหนึ่งขณะที่ Sharma ขี่จักรยานมาทำงานที่โรงพยาบาลเกิดเหยียบตะปูทำให้ล้อยางแบน เขาจึงขี่แวะซ่อมยาง ที่ร้านเขาเห็นช่างซ่อมยางรถบรรทุกด้วย vulcanised rubber จึงเกิดแนวคิดในการสร้างขาเทียมจากยาง เมื่อถึงโรงพยาบาลเขาก็ปรึกษาเรื่องนี้กับ Sethi ซึ่งก็เห็นด้วย ทั้งสองคิดค้นขาเทียมที่ยืดหยุ่นได้ในราคาที่ไม่แพงเป็นผลสำเร็จและตั้งชื่อว่า Jaipur Foot ตามชื่อเมือง (Sethi กล่าวว่าเป็นการดีที่ไม่ได้จบออร์โธปิดิคส์ ทำให้เขามีเวลาให้กับงานด้านนี้เต็มที่)

ในตอนแรกศัลยแพทย์ออร์โธปิดิคส์ดูถูกสิ่งนี้เนื่องจากถูกคิดค้นจากช่างที่ไร้การศึกษา เขานำเสนอสิ่งนี้เป็นครั้งแรกต่อ Association of Surgeons ในบังกาลอร์เมื่อปี ค.ศ. 1970 และนำเสนอต่อ British orthopaedic surgeons ที่ออกซฟอร์ดในปี ค.ศ. 1971 ซึ่งได้รับการยอมรับ ข้อสงสัยต่าง ๆ จึงจางหายไป

มีการใช้ Jaipur Foot นอกอินเดียครั้งแรกในอัฟกานิสถานประเทศซึ่งมีผู้พิการขาขาดจำนวนมาก จากนั้นก็มีใช้ในประเทศต่าง ๆ อีกมากมาย

Sethi ได้รับการบันทึกในหนังสือกินเนสว่าช่วยให้ amputee กลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้งจำนวนมากที่สุดในโลก

เขาได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาผู้นำชุมชนประจำปี ค.ศ. 1981 และเกษียณในปีนั้นเอง

เขาเสียชีวิตจาก cardiac arrest ที่เมือง Jaipur เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2008

Ram Chandra Sharma


ออกจากการเรียนตั้งแต่อายุ 9 ปี ครอบครัวของเขาเป็นช่างฝีมือดีมา 4 รุ่นแล้ว เขาก็มีฝีมือดีเยี่ยมจน Sethi ยกย่องว่าเป็น Masterji

ชื่อเสียงในการคิดค้น Jaipur Foot มุ่งไปที่ Sethi เพียงคนเดียว เมื่อ Sethi ได้รับรางวัลแมกไซไซเพียงคนเดียวในปี ค.ศ. 1981 Sharma รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมทำให้ทั้งคู่บาดหมางกัน

แม้ต่อมาความสัมพันธ์ของทั้งสองดีขึ้นแต่ก็ไม่มีวันเหมือนเดิม Sharma รู้สึกว่าตนไม่มีความรู้อะไรถ้าขาดความช่วยเหลือจาก Sethi ก็คงสร้างสิ่งนี้ไม่ได้ มีคนแนะนำให้จดสิทธิบัตรสิ่งนี้เพราะจะทำเงินให้มหาศาลแต่เขาก็ไม่เคยคิดที่จะจดสิทธิบัตรสิ่งนี้ โดยกล่าวว่าแค่เห็นคนไข้มีความสุขเขาก็พอใจแล้ว


รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ (Therdchai Jivacate)


จบแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นที่ 15 และจบเวชศาสตร์ฟื้นฟูจากมหาวิทยาลัย Northwestern ประเทศสหรัฐฯ

เริ่มรับราชการในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1966 และปฏิบัติงานจนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งอดีตหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ปัจจุบันเป็อาจารย์พิเศษภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขณะเป็นอาจารย์สอนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1991 อาจารย์ได้ประดิษฐ์ขาเทียมใต้เข่าจากขวดยาคูลท์และขยะพลาสติกประเภท Polystyrene ในราคาต้นทุนที่ต่ำมากเพียง 700 บาท ความทราบถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำริตั้งมูลนิธิขาเทียมขึ้นเพื่อทำขาเทียมให้แก่ผู้พิการที่ยากไร้ด้อยโอกาสโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และไม่คิดมูลค่าซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรกรในท้องถิ่นภูมิภาคและชนบท และผู้อยู่ตามแนวชายแดนที่อยู่ห่างไกลความเจริญไม่สามารถรับบริการจากรัฐได้ ให้ได้รับบริการอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราราชนนีได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1992 และอาจารย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการมูลนิธิฯ มีการจัดหน่วยขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ออกไปให้บริการทำขาเทียมในถิ่นทุรกันดารอย่างทั่วถึง

อาจารย์กล่าวว่าผู้พิการเมื่อได้รับขาเทียมแล้ว ขาเทียมก็อาจมีการชำรุดทรุดโทรมได้เหมือนกับรองเท้าจึงต้องมีทำขาเทียมเอง โดยการตั้งโรงงานให้ดูแลกันในชุมชนในพื้นที่ เพราะหากจะกล่าวถึงผู้พิการขาขาดแล้วประเทศไทยยังมีอีกเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากอุบัติเหตุ บาดแผลเรื้อรังที่เกิดจากโรคเบาหวาน ดังนั้นผู้พิการขาขาดจึงไม่มีวันหมด จึงได้จัดตั้งโรงงานขาเทียมพระราชทานฯขึ้นในโรงพยาบาลชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยื่น ปัจจุบันมีโรงงานมากกว่า 10 แห่ง

ผลจากความทุ่มเทตั้งใจทำขาเทียมให้คนพิการทั่วประเทศมานานสิบกว่าปีทำให้อาจารย์ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี ค.ศ. 2008 ในวัย 68 ปี

ไม่มีความคิดเห็น: