วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

MMM(162) figure of eight reentry model

Circus movement reentry เป็นรูปแบบของ reentry ที่มีการศึกษามากที่สุด แบ่งย่อยเป็น 4 โมเดลคือ

1. Ring model บรรยายไว้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1906 โดย A. G. Mayer แต่ไม่รู้ว่าเป็นกลไกการเกิด reentry จนกระทั่ง Mines เสนอสมมติฐาน circus movement ในอีก 7 ปีต่อมา โมเดลนี้ต้องมี anatomical obstacle

2. Leading circle model ค.ศ. 1924 W. E. Garrey ค้นพบเป็นครั้งแรกว่า reentry เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมี anatomical obstacle นำไปสู่การเสนอ Leading circle model ในปี ค.ศ. 1977 โดย M. A. Alessie และคณะ

3. Figure of 8 model นำเสนอโดย Nabil E. El-Sherif ในปี ค.ศ. 1981 เป็นโมเดลที่พบบ่อยบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด reentry ชนิดนี้สามารถนำไปสู่ ventricular tachycardia และ ventricular fibrillation ซึ่งอันตรายถึงชีวิต

4. Spiral waves and rotors คล้าย ๆ Leading circle model


Nabil E. El-Sherif (เกิด ค.ศ. 1938)

เกิดวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1938 ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์
ค.ศ. 1959 จบแพทย์จากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไคโรในเดือนธันวาคม
ค.ศ. 1960-1963 เป็น resident ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคโร
ค.ศ. 1963-1972 ทำงานที่ภาควิชาหทัยวิทยาของมหาวิทยาลัยไคโร
ค.ศ. 1972-1974 เป็น fellow ด้าน electrophysiology ที่ศูนย์การแพทย์ Mount Sinai ในไมอามีบีช รัฐฟลอริดา
ค.ศ. 1974-1976 เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยไมอามี
ค.ศ. 1976-1978 เป็นรองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยไมอามี
ค.ศ. 1978 เป็นศาสตราจารย์ที่ State University of New York (SUNY) ศูนย์การแพทย์ Downstate
จากการศึกษา canine post-infarction model ของเขาในปี ค.ศ. 1981 นำไปสู่ figure of 8 reentrant circuit  ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันทางคลินิกว่าการทำ ablation ตรง slow common pathway ของ figure-of-eight circuit รักษาผู้ป่วยได้
ค.ศ. 1984-1986 เป็นผู้อำนวยการสาขาหทัยวิทยาที่ SUNY
ค.ศ. 2007 ได้รับรางวัล Outstanding Achievement Award จาก European Cardiac Arrhythmia Society (ECAS)
ค.ศ. 2010 ได้รับรางวัล Pioneer of Cardiac Pacing and Electrophysiology จาก Heart Rhythm Society (HRS)
ปัจจุบันเขาเป็นผู้อำนวยการสาขาหทัยวิทยาที่ New York Harbor Veterans Affairs Health Care Center วิทยาเขตบรุกลิน

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

MMM(161) Carvallo's sign

José Manuel Rivero Carvallo (1905-1993)


เกิดวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1905 ที่ Tehuacan ในรัฐเม็กซิกันของ Puebla ประเทศเม็กซิโก

ตอนแรกเขาเรียนที่ Puebla ก่อนจะรับทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียนต่อที่กรุงปารีสและจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1932

เขากลับมาเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1934 เพื่อปฏิบัติงานด้านหทัยวิทยา

ค.ศ. 1944 เขาเป็นสมาชิกก่อตั้งสถาบันแห่งชาติด้านหทัยวิทยาของเม็กซิโกภายใต้ Ignacio Chavez Sanchez (31 ม.ค. 1897 – 12 ก.ค. 1979) แพทย์ชาวเม็กซิกันผู้มีชื่อเสียง

ค.ศ. 1946 Carvallo บรรยายว่า murmur ของ tricuspid regurgitation จะได้ยินดังขึ้นเมื่อหายใจเข้า อาการแสดงนี้จึงรู้จักกันในชื่อ Carvallo's sign

เขาเสียชีวิตในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993

เอกสารแนะนำ

http://www.historiadelamedicina.org/rivero.html

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

MMM(160) Urbani's disease

ซาร์ส (SARS) เป็นคำที่ทำให้ทุกคนในโลกขวัญกระเจิงมาแล้ว วันนี้ผมจะขอนำทุกท่านกลับไปสู่เหตุการณ์นั้นอีกครั้งหนึ่ง

ปอดบวม (pneumonia) เป็นโรคหนึ่งของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 ถึง 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 ประเทศจีนรายงานว่าที่มณฑลกวางตุ้งเกิดการระบาดของโรคปอดบวมโดยมีผู้ป่วยถึง 305 ราย เสียชีวิต 5 ราย ผลการชันสูตรศพพบว่า 2 รายเป็นปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia pneumoniae

นายแพทย์หลิว เจี้ยนหลุนวัย 64 ปีศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยซงซานในเมืองกวางเจาทางภาคใต้ของจีนเริ่มรู้สึ กไม่สบายเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 แต่ยังสามารถเดินทางไปร่วมงานมงคลสมรสของญาติที่ฮ่องกงได้โดยเข้าพักที่โรงแ รมแห่งหนึ่งในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ วันที่ไปถึงน้องเขยวัย 53 ปีชาวฮ่องกงมาต้อนรับและพาออกไปเที่ยวชมเมือง

22 กุมภาพันธ์ นายแพทย์หลิวอาการทรุดหนักลง ระบบหายใจล้มเหลวจนต้องเข้ารักษาตัวในห้อง ICU ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขาเปิดเผยว่าที่เมืองกวางเจามีผู้ป่วยเป็นปอดบวมเสียชีวิตหลายสิบราย นอกจากนี้แพทย์ในโรงพยาบาลยังป่วยและเสียชีวิตด้วย ทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริงของจีนว่าน่าจะมีการระบาดมากกว่าที่รายงานต่อองค์ การอนามัยโลก

23 กุมภาพันธ์ จอห์นนี่ เฉิน (Johnny Chen) นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายจีนวัย 48 ปีเดินทางจากอเมริกามาทำธุรกิจที่เซี่ยงไฮ้โดยเข้าพักที่โรงแรมเดียวกับนายแ พทย์หลิว ต่อมาก็ไม่สบายเช่นกันแต่ยังคงเดินทางไปทำธุรกิจต่อที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

26 กุมภาพันธ์ จอห์นนี่ เฉิน อาการหนักขึ้นจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่กรุงฮานอย

28 กุมภาพันธ์ น้องเขยของนายแพทย์หลิวไม่สบายหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเช่นกัน

3 มีนาคม นายแพทย์หลิวถึงแก่กรรม วันเดียวกันนี้เอง จอห์นนี่ เฉินอาการทรุดลงอย่างมากจึงถูกส่งตัวมารักษาต่อที่ฮ่องกง

ต่อมาบุคลากรในโรงพยาบาลทั้งที่ฮ่องกงและกรุงฮานอยต่างก็เริ่มป่วยและบางราย เสียชีวิต นายแพทย์คาร์โล เออร์บานิ (Carlo Urbani) แพทย์ชาวอิตาลีวัย 46 ปีนักระบาดวิทยาประจำสำนักงานองค์การอนามัยโลกที่เวียดนามได้เข้าไปสอบสวนโร คในกรุงฮานอยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เขาพบว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากไข้หวัดใหญ่แต่น่าจะเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิ ดใหม่ เขาจึงแจ้งเตือนไปยังองค์การอนามัยโลกและแนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขของเวียดน ามคัดแยกผู้ป่วยและตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม หลังการอภิปรายนาน 4 ชั่วโมงในที่สุดรัฐบาลก็ปฏิบัติตามคำแนะนำแม้จะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ (รัฐบาลตัดสินใจได้ดีมาก)

11 มีนาคม นายแพทย์คาร์โล เออร์บานิเดินทางจากฮานอยมายังประเทศไทยโดยสายการบินไทยเที่ยวบินพิเศษที่ TG685 เพื่อเป็นประธานในการประชุมวิชาการเรื่องปรสิตในเด็ก ขณะอยู่บนเครื่องบินเขาเริ่มไม่สบายและรู้ตัวว่าคงติดโรคนี้เข้าแล้ว เมื่อถึงสนามบินจึงบอกให้เพื่อนร่วมงานจาก CDC ที่รอต้อนรับให้อยู่ห่างจากตัวเขาและเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมารับเพื่อรักษาตั วในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขของไทยจัดให้พักอยู่ในห้องกักกันโรคของสถาบันบำราศนราดูร ด้วยความเป็นนักระบาดวิทยาจึงยอมอุดอู้อยู่ในแต่ในห้องเพราะไม่ต้องการให้เชื้อแพร่กระจาย การพูดคุยกับภรรยากระทำผ่านระบบการสื่อสารทางไกล

12 มีนาคม องค์การอนามัยโลกแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังโรคระบาดชนิดใหม่นี้โดยตั้งชื่อว่า “กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS)”

13 มีนาคม จอห์นนี่ เฉินถึงแก่กรรมที่ฮ่องกง

เนื่องจากโรคนี้แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วและไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ ดังนั้นไม่น่าจะเป็นการระบาดจากเชื้อ Chlamydia pneumoniae หรือเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ความสนใจจึงพุ่งไปที่ไวรัส

17 มีนาคม มีรายงานจากเยอรมันและฮ่องกงว่าตัวอย่างจากช่องหลังโพรงจมูก (nasopharynx) เมื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนพบอนุภาคคล้ายพารามิกโซไวรัส (Paramyxovirus-like particle) และ John Tam หัวหน้าศูนย์ไวรัสแห่งโรงพยาบาล Prince of Wales ในฮ่องกงพบ Paramyxovirus ในผู้ป่วย SARS ถึง 25 รายจาก 53 ราย ทำให้เชื่อกันว่าสาเหตุของโรคเกิดจาก Paramyxovirus

19 มีนาคม น้องเขยของนายแพทย์หลิวถึงแก่กรรมที่ฮ่องกง

ประเทศไทยส่งตัวอย่างจากนายแพทย์คาร์โล เออร์บานิไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) 22 มีนาคม CDC ประกาศว่าแยกได้เชื้อกลุ่ม Coronavirus จากตัวอย่างที่ส่งมาจากประเทศไทยและตั้งชื่อว่า SARS-coronavirus สายพันธุ์เออร์บานิ (SARS-CoV Urbani strain)

29 มีนาคม นายแพทย์คาร์โล เออร์บานิถึงแก่กรรมในประเทศไทย

การที่นายแพทย์ท่านนี้เข้ามาพักในประเทศไทย เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ไทยตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมากและมีการเฝ้าระวังอย่างเ คร่งครัดจึงไม่มีการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย

4 เมษายน Jiang Yanyong (เกิด 4 ต.ค. 1931) แพทย์ชาวจีนส่งจดหมายไปยังสถานีโทรทัศน์สองแห่งเพื่อแจ้งให้ทราบว่าการระบาด ของโรคซาร์สในจีนรุนแรงกว่าข้อมูลที่รัฐบาลได้รับ แต่จดหมายของเขาไม่ได้รับการออกอากาศ ข้อมูลนี้รั่วไหลไปยังสื่อของสหรัฐฯและได้สัมภาษณ์เขาในวันที่ 8 เมษายน สาธารณชนจึงได้ทราบข้อเท็จจริง

16 เมษายน Albert Osterhaus และคณะจากศูนย์การแพทย์ Erasmus มหาวิทยาลัย Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ทำการทดลองในลิงตาม Koch’s postulate ยืนยันว่า Coronavirus เป็นสาเหตุของ SARS ไม่ใช่ Paramyxovirus อย่างที่เข้าใจในตอนแรก
21 เมษายนผู้ว่าการเมืองปักกิ่งและรัฐมนตรีสาธารณสุขของจีนประกาศลาออกจากตำแหน ่งเพื่อรับผิดชอบในเรื่องนี้

27 เมษายน รัฐบาลจีนระดมคนงานกว่า 7,000 ชีวิตสร้างโรงพยาบาล Xiaotangshan ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียงขึ้นในกรุงปักกิ่งเพื่อรับดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะ สร้างแล้วเสร็จและสามารถรับผู้ป่วยได้ในเวลาเพียง 7 วันหลังเริ่มก่อสร้าง

24 พฤษภาคม นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงทำการวิจัยเพาะเชื้อจากสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายเพื่อบริโภคในภาคใต้ของจีน พบว่าชะมด Paguna larvata มีเชื้อไวรัสที่คล้ายคลึงกับ SARS-CoV มาก เป็นไปได้ว่า SARS อาจจะมีต้นตอมาจากชะมด

จากความร่วมมือร่วมใจกันทำให้โลกเราสามารถควบคุมโรคนี้ได้ในเวลาไม่นานนัก การระบาดในครั้งนั้นองค์การอนามัยโลกสรุปว่าพบผู้ป่วยใน 30 กว่าประเทศรวมทั้งสิ้น 8,437 ราย เสียชีวิต 813 ราย (ประเทศไทยมีผู้ป่วย 6 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยทุกคนติดเชื้อมาจากนอกประเทศ)

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นคว้าวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันโรคนี้กันอยู่ เพราะไม่รู้ว่ามันจะหวนกลับมาเขย่าโลกอีกเมื่อไหร่

Carlo Urbani (1956-2003)

เกิดวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1956 ที่เมือง Castelplanio ประเทศอิตาลี
จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยแห่ง Ancona ในปี ค.ศ. 1981 เริ่มแรกทำงานเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปก่อนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเช ื้อและโรคเขตร้อนที่มหาวิทยาลัย Messina ต่อมายังจบปริญญาโทด้านปรสิตวิทยาเขตร้อนอีกด้วย

ค.ศ. 1993 เขาเป็นที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก โดยเริ่มงานที่ Mauritania ก่อนจะไป Maldives ในปี ค.ศ. 1995

ค.ศ. 1996 ได้รับเชิญเข้าร่วมองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres: MSF) เพื่อต่อสู้โรคติดเชื้อในประเทศกัมพูชา ต่อมา ค.ศ. 1999 เขากลับมายังอิตาลีและดำรงตำแหน่งประธานองค์การแพทย์ไร้พรมแดนส่วนประเทศอิต าลี องค์การนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนั้นเอง

ค.ศ. 2000 รับตำแหน่งนักระบาดวิทยาประจำสำนักงานองค์การอนามัยโลกที่เวียดนาม

เขาแต่งงานกับ Chiorrini ทั้งสองมีบุตรด้วยกันสามคน

เขาเป็นคนแรกที่ตระหนักถึงความสำคัญของโรคซาร์สทำให้ไม่เกิดการระบาดในวงกว้ างและมุ่งมั่นทำงานนี้จนกระทั่งเสียชีวิตจากโรคซาร์สในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2003 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เพื่อเป็นเกียรติแก่ Urbani ผมเห็นด้วยที่จะเรียกโรคซาร์สว่า Urbani’s disease

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

MMM(159) Father of humanistic psychology

 

Abraham “Abe” Harold Maslow (1908-1970)
 
เกิดวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1908 ที่บรุกลิน นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เขาเป็นบุตรคนแรกในบรรดาเจ็ดคนของชาวยิวผู้ไร้การศึกษาที่ย้ายมาจากส่วนหนึ่งของอาณาจักรรัสเซีย (ปัจจุบันคือเคียฟ ประเทศยูเครน)
วัยเด็กเขาเป็นคนเชื่องช้า เรียบร้อย ตัวคนเดียวและไม่มีความสุขเพราะเป็นเด็กชายชาวยิวท่ามกลางเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่ยิว
 ตอนแรกเขาเรียนด้านกฎหมายตามความต้องการของผู้ปกครองที่ City College of New York (CCNY)  เรียนได้สามภาคเรียนก็ย้ายไปคอร์เนลล์และกลับมายัง CCNY  เขาแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้อง Bertha Goodman ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1928 โดยผู้ปกครองไม่เห็นด้วย
เขากับภรรยาย้ายไปยังวิสคอนซินและเข้าเรียนจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิน  อาจารย์ที่ปรึกษาของเขาคือ Harry Frederick Harlow (1905–1981) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน
เขาจบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซินในปี ค.ศ. 1930 ปริญญาโทในปี ค.ศ. 1931 และปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1934
หนึ่งปีหลังจบการศึกษาเขากลับไปยังนิวยอร์กและทำงานกับ Edward Lee Thorndike (1874-1949) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
เขาเริ่มงานสอนที่วิทยาลัยบรุกลินช่วงนี้ได้พบกับบุคคลสำคัญมากมายอาทิ Alfred Adler (1870–1937) แพทย์ชาวออสเตรียผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตวิทยาบุคคล (School of individual psychology), Ruth Benedict (1887–1948) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันและ Max Wertheimer (1880–1943) นักจิตวิทยาชาวเชคหนึ่งในผู้ก่อตั้งวิชาจิตวิทยาเกสตัลท์ (Gestalt psychology)
Kurt Goldstein (1878–1965) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทชาวเยอรมันเสนอแนวคิดเรื่องการสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ขั้นสูง (self-actualization) ในหนังสือภาษาเยอรมัน “Der Aufbau des Organismus เมื่อปี ค.ศ. 1934 เป็นแรงบันดาลใจให้ Maslow สนใจด้านจิตวิทยามนุษยนิยม (humanistic psychology) ซึ่งถือเป็นแรงที่สาม (third force) นอกเหนือจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) และพฤติกรรมนิยม (behaviorism)
Maslow นำเสนอลำดับชั้นของความต้องการของมนุษย์ที่รู้จักกันในชื่อ "Maslow’s hierarchy of human needs" เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1943  เริ่มจากขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุดคือความต้องการทางร่างกาย (physiological)  ขั้นที่ 2 คือความต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต (safety)  ขั้นที่ 3 คือความต้องการความรักความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและชุมชน (belonging)  ขั้นที่ 4 คือความต้องการการยอมรับนับถือ (esteem) และขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดคือ การสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ขั้นสูง (self-actualization) นั่นเอง
ค.ศ. 1951-1969 เขาเป็นหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาและเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Brandeis

เขาเสียชีวิตจากหัวใจวายที่ Menlo Park ในแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1970 และได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยามนุษยนิยม (Father of humanistic psychology)

 

 เอกสารอ้างอิง

                Schott RL. Abraham Maslow, humanistic psychology, and organization leadership: a Jungian perspective. J Humanist Psychol 1992;32:106-20.

                Rennie D. Two Thoughts on Abraham Maslow. J Humanist Psychol 2008;48(4):445-8.

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


MMM(158) DiGeorge's syndrome

Angelo Mari DiGeorge (1921-2009)


เกิดวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1921 ที่ฟิลาเดลเฟียใต้ ประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นบุตรชายของ Antonio กับ Emilia (Taraborelli) ชาวอิตาลีผู้ย้ายมาอยู่สหรัฐฯ

ครูชั้นประถมเปลี่ยนนามสกุลของเขาจาก DiGiorgio เป็นอเมริกันคือ DiGeorge

ค.ศ. 1939 จบการศึกษาจาก South Philadelphia High School for Boys โดยได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งและได้รับทุน White Williams scholarship ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Temple เขาจบปริญญาตรีด้านเคมีในปี ค.ศ. 1943 และจบแพทย์จากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัย Temple ในฟิลาเดลเฟียในปี ค.ศ. 1946

เขาจบ internship ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Temple จากนั้น ค.ศ. 1947-1949 ทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลทหารสหรัฐฯที่ 124 ในเมือง Linz ทางตอนบนของประเทศออสเตรียที่ซึ่งฮิตเลอร์เติบโต จากนั้นก็กลับมายังฟิลาเดลเฟียเพื่อเรียนต่อด้านกุมารเวชศาสตร์ที่ St. Christopher's Hospital for Children

ค.ศ. 1952 เขาทำงานที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัย Temple และได้รับ instructor ในปี ค.ศ. 1953

ค.ศ. 1954 เขาศึกษาต่อด้านต่อมไร้ท่อวิทยาที่วิทยาลัยแพทย์ Jefferson

ค.ศ. 1955 E. Sedlácková บรรยายกลุ่มอาการที่ต่อมาเรียกว่า Sedlackova syndrome

ในยุคทศวรรษ 1950-1960 กุมารแพทย์จะฉายรังสีเพื่อทำลายต่อมไธมัส DiGeorge เป็นคนแรกที่แสดงให้เห็นว่าต่อมไธมัสมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันแบบเซลล์ (cellular immunity) สนับสนุนทฤษฎีใหม่ที่ว่าระบบภูมคุ้มกันมี 2 ส่วนคือ humoral (B-cell) และ cell-mediated (T-cell)

ค.ศ. 1965 DiGeorge บรรยายผู้ป่วยที่ติดเชื้อบ่อย ๆ และมี thymic hypoplasia กับ hypoparathyroidism ต่อมากลุ่มอาการนี้ได้รับการขยายความโดยรวมความผิดปกติในการเรียนรู้, congenital cardiac anomalies และ craniofacial dysmorphology ซึ่งเป็นความผิดปกติของ third กับ fourth pharyngeal pouches ระหว่างการเจริญเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา กลุ่มอาการนี้เรียกว่า DiGeorge's syndrome (DGS)

ค.ศ. 1961 เขาเป็นหัวหน้าสาขาต่อมไร้ท่อวิทยาและเมตะบอลิซึมที่โรงพยาบาล St. Christopher (ดำรงตำแหน่งนี้ถึงปี ค.ศ. 1989)

ค.ศ. 1965 ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกด้านกุมารเวชศาสตร์ (ดำรงตำแหน่งนี้ถึงปี ค.ศ. 1982)

ค.ศ. 1967 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Temple (ดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งปี ค.ศ. 1991 ก็ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ)

ค.ศ. 1976 A. Kinouchi และคณะรายงานผู้ป่วย conotruncal anomaly face syndrome (CTAF)

ค.ศ. 1978 Robert J. Shprintzen นักพยาธิวิทยาด้านการพูดชาวอเมริกันและคณะรายงานผู้ป่วย Velocardiofacial Syndrome (VCFS) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Shprintzen syndrome

ค.ศ. 1981 A. de la Chapelle ค้นพบความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุร่วมกันของกลุ่มอาการเหล่านี้คือการหายไปของยีนที่โครโมโซม 22 เพียงแต่ความรุนแรงของอาการแตกต่างกันเท่านั้นเอง กลุ่มอาการนี้จึงควรเรียกว่า 22q11.2 deletion syndrome (บางคนเรียกว่า CATCH 22 ซึ่งหมายถึง cardiac anomalies, abnormal facies, thymic hypoplasia, cleft palate, hypocalcemia และโครโมโซม 22)

DiGeorge ดำรงตำแหน่งประธานของ Lawson Wilkins Pediatric Endocrine Society ระหว่างปี ค.ศ. 1983-1984

เขาพัฒนาจนโรงพยาบาล St. Christopher จากโรงพยาบาลชุมชนในฟิลาเดลเฟียเป็นสถาบันการแพทย์ที่มีชื่อเสียง เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ค.ศ. 1993 ทางโรงพยาบาลก่อตั้งรางวัล Angelo DiGeorge award มอบให้แก่สตาฟรุ่นใหม่ที่ instruction ดีที่สุดเป็นประจำทุกปี ค.ศ. 2005 Philadelphia Mural Arts Program ติดตั้งภาพเหมือนของเขาที่ผนังภายนอกอาคารโรงพยาบาลเรียกว่า DiGeorge's street credentials หนึ่งปีต่อมาหอประชุมหลักของโรงพยาบาลได้รับการตั้งชื่อว่า Angelo M. DiGeorge Teaching Center

เขาแต่งงานกับ Natalie Picarello พยาบาลที่โรงพยาบาล Temple ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คนเป็นบุตรชาย 2 คนคือ Christopher กับ Anthony และบุตรสาว 1 คนคือ Anita Brister

DiGeorge เป็นผู้ประพันธ์หลักของบทต่อมไร้ท่อวิทยาในตำรา “Nelson Textbook of Pediatrics” อยู่หลายทศวรรษ เขาเสียชีวิตจากไตวายที่บ้านตัวเองใน East Falls เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2009 ด้วยวัย 88 ปี

Robert J. “Bob” Shprintzen (born 1946)


เกิด ค.ศ. 1946 ที่บรุกลิน นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

บิดาของเขาคือ Milton ย้ายมาจากส่วนหนึ่งของอาณาจักรรัสเซีย (ปัจจุบันคือยูเครน) ส่วนมารดาคือ Florence เกิดที่สหรัฐฯ

ในวัยเด็กครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่ Westchester County ชานเมืองนิวยอร์ก

Shprintzen จบการศึกษาจาก New Rochelle High School ในปี ค.ศ. 1964 จากนั้นก็เข้ามหาวิทยาลัยแห่งโรเชสเตอร์และจบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาในปี ค.ศ. 1968

เขาจบปริญญาโทด้านพยาธิวิทยาการพูดจากมหาวิทยาลัยแห่งโรดไอแลนส์ในปี ค.ศ. 1970 จากนั้นก็ศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์และจบในปี ค.ศ. 1973

หลังจบการศึกษา ตำแหน่งงานมีน้อยมากเขาจึงไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยออเบิร์นในแอละบามา ทำงานได้ไม่ถึงปี พฤษภาคม ค.ศ. 1974 เขาก็กลับมานิวยอร์กเพื่อหางานใหม่ ด้วยความช่วยเหลือของ Betty Jane McWilliams ดอกเตอร์ผู้ยิ่งใหญ่ในด้านเพดานโหว่ เขาก็ได้รับตำแหน่งที่ศูนย์การแพทย์ Montefiore และวิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ในบร็องซ์ ภายใต้การแนะนำของนายแพทย์ Michael Lewin หัวหน้าแผนกศัลยกรรมตกแต่ง ทำให้ Shprintzen พัฒนาโปรแกรมการดูแลในด้านการพูดจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ

ค.ศ. 1978 เขารายงานผู้ป่วย Velocardiofacial Syndrome (VCFS) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Shprintzen syndrome

ค.ศ. 1979 เขาได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งและโสตศอวิทยา ต่อมาก็ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี ค.ศ. 1984 ด้วยวัยเพียง 39 ปี

ค.ศ. 1994 เขาก่อตั้ง The Velo-Cardio-Facial Syndrome Educational Foundation, Inc. และได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการคนแรก (ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี ค.ศ. 2003)

ค.ศ. 1996 นายแพทย์ Robert M. Kellman หัวหน้าภาควิชาโสตศอวิทยาที่มหาวิทยาลัยการแพทย์ Upstate เสนอตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยความผิดปกติของการสื่อสาร (communication disorder unit) ให้แก่ Shprintzen ค.ศ. 1997 เขาตัดสินใจย้ายกลับไปยังซีราคิวส์อีกครั้งเพื่อรับตำแหน่งที่นั่น นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสให้ก่อตั้งศูนย์ VCFS ซึ่งเขาพัฒนาจนเป็นศูนย์ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

เขาแต่งงานกับ Deborah (Ochacher) ที่นิวยอร์กในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1971 มีบุตรด้วยกันสองคนคือ Jodi Melissa (เกิด ค.ศ. 1973) และ Adam Daniel (เกิด ค.ศ. 1976)

ปัจจุบัน Shprintzen ยังมีชีวิตอยู่

หมายเหตุ DiGeorge กับ Shprintzen เจอกันครั้งแรกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี

เอกสารอ้างอิง

http://www.ijponline.net/content/36/1/22