วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(89) Father of tropical medicine

Sir Patrick Manson (1844-1922)


เกิดวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1844 ที่เมือง Oldmeldrum 18 ไมล์ทางตอนเหนือของเมืองแอเบอร์ดีน ประเทศสกอตแลนด์

เขาเป็นบุตรชายคนที่สองในบรรดาบุตรชาย 3 คนและบุตรสาว 4 คนของ John Manson กับ Elizabeth née Blakie บิดาของเขาเป็นผู้จัดการสาขาท้องถิ่นของธนาคาร British Linen Bank และเป็นเจ้าของที่ดินใน Fingask ส่วนมารดาของเขาเป็นญาติห่าง ๆ ของ David Livingstone (19 มี.ค. 1813 – 1 พ.ค. 1873)

ตอนอายุสิบสามปีครอบครัวของเขาย้ายมาอยู่ที่แอเบอร์ดีน เขาเข้าเรียนที่ Gymnasium School และต่อมาที่ West End Academy

ค.ศ. 1860 เขาเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งแอเบอร์ดีนและจบในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1865 ด้วยวัยเพียง 19 ปี หลังจบเขาได้รับตำแหน่งที่ Durham Lunatic Asylum โดยทำงานอยู่เจ็ดเดือน

กรกฎาคม ค.ศ. 1866 เขาได้ปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งแอเบอร์ดีน ปลายปีนั้นเองเขาก็สมัครเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ของ Chinese Imperial Maritime Customs เดินทางโดยเรือไปยัง Formosa (ปัจจุบันคือเกาะไต้หวัน) และเริ่มงานวิจัยด้านเวชศาสตร์เขตร้อน (Tropical medicine)

5 ปีต่อมา ค.ศ. 1871 เขาย้ายจาก Takao ในเกาะไต้หวันไปยัง Amoy (ปัจจุบันคือ Xiamen) ในจีนแผ่นดินใหญ่

ธันวาคม ค.ศ. 1875 เขาแต่งงานกับ Henrietta Isabella Thurbun ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 4 คนเป็นบุตรชาย 3 คนและบุตรสาว 1 คน

ค.ศ. 1883 – 1889 เขาทำเวชปฏิบัติที่ฮ่องกง

ที่ฮ่องกงเขาร่วมก่อตั้ง Hong Kong College of Medicine for Chinese (เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงในปี ค.ศ. 1911) ซึ่ง Sun Yat-sen (1866–1925) ประธานาธิบดีคนแรกของจีนเป็นหนึ่งในลูกศิษย์รุ่นแรกของเขา

ค.ศ. 1889 เขาเดินทางกลับสกอตแลนด์แต่เกิดปัญหาทางการเงินจึงย้ายไปทำเวชปฏิบัติที่กรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1890 โดยอาศัยที่ 21 Queen Anne Street, W1 (เขาและครอบครัวอยู่ที่นี่เป็นเวลา 23 ปีก่อนจะย้ายไปอยู่ที่ 50 Welbeck Street, W1 ระยะสั้น ๆ)

ค.ศ. 1897 เขาได้รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของ Colonial Office

เขาตีพิมพ์ตำราชื่อ “Manson's Tropical Diseases : a Manual of the Diseases of Warm Climates” ในปี ค.ศ. 1898

เขาผลักดันการก่อตั้งโรงเรียนเวชศาสตร์เขตร้อนที่ Albert Dock Seamen's Hospital และก่อตั้ง London School of Hygiene & Tropical Medicine ซึ่งเปิดในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1899

เขาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น Sir ในปี ค.ศ. 1903 และได้เป็นประธานคนแรกของ Royal Society of Tropical Medicine ในปี ค.ศ. 1907

กรกฎาคม ค.ศ. 1912 เขาเกษียณจาก Colonial Office

หลังทนทุกข์จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นเวลาหนึ่งปีเขาก็เสียชีวิตที่กรุงลอนดอนในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1922 ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสาน Allendale ในแอเบอร์ดีน

ผลงานสำคัญของเขา

ค.ศ. 1863 ศัลยแพทย์ชาวคิวบา Jean-Nicholas Demarquay (1814–1875) พบไมโครฟิลาเรีย (microfilaria) จากน้ำในถุงอัณฑะ (hydrocele fluid) เป็นครั้งแรก ค.ศ. 1866 ที่บราซิลแพทย์ชาวเยอรมัน Otto Eduard Heinrich Wucherer (1820–1873) พบไมโครฟิลาเรียจากปัสสาวะที่ขาวขุ่นเหมือนนม (chyuria)

ค.ศ. 1872 ที่อินเดียศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ Timothy Richards Lewis (18411886) พบไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือด ต่อมา ค.ศ. 1876 – 1877 ที่ Brisbane ประเทศออสเตรเลียแพทย์ชาวอังกฤษ Joseph Bancroft (1836–1894) ค้นพบพยาธิตัวเต็มวัยตัวเมียเป็นคนแรก ตอนนั้นมันมีชื่อว่า Filaria sanguinis hominis (ปัจจุบันคือ Wuchereria bancrofti) ซึ่งเป็นหนอนพยาธิที่ก่อโรคเท้าช้าง

Manson พยายามศึกษาวงจรชีวิตของ Wuchereria bancrofti จากการสังเกตด้วยความอุตสาหะเขาพบว่าหนอนพยาธินี้จะพบในกระแสเลือดผู้ป่วยเฉพาะตอนกลางคืน (ในเวลากลางวันจะอยู่ที่ปอด) เขาสังเกตว่าตัวอ่อนหรือไมโครฟิลาเรียของมันจะมีแผ่นหุ้มอยู่ซึ่งในสภาพเย็นแผ่นนี้จึงจะแตกออกและไมโครฟิลาเรียจะเคลื่อนไหวได้อิสระ นำไปสู่แนวคิดว่าวงจรชีวิตของมันส่วนหนึ่งจะต้องเกิดนอกร่างกายมนุษย์

วันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1877 เขาทำการทดลองกับคนรับใช้ของเขาชื่อ Hin Lo ซึ่งป่วยเป็นโรคเท้าช้าง โดยปล่อยให้ยุงพันธุ์ Culex fatigens กัดในตอนกลางคืนขณะนอนหลับในกรงกันยุง จากนั้นก็นำยุงมาผ่าพบว่าน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของยุงไม่ย่อยเชื้อนี้แต่กลับทำให้มันสดชื่นด้วยซ้ำ เขาจึงเสนอสมมติฐานว่ายุงมีบทบาทสำคัญในวงจรชีวิตของพยาธินี้ แต่เขาเข้าใจผิดว่ามนุษย์ติดเชื้อนี้จากการกินน้ำที่มียุงปนเปื้อน

ค.ศ. 1883 เขาตีพิมพ์บทความชื่อ “The Filaria sanguinis hominis, and Certain New Forms of Parasitic Disease

วันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1900 แพทย์ชาวอังกฤษ George Carmichael Low (18721952) แสดงให้เห็นว่าไมโครฟิลาเรียอยู่ที่จงอยปากของยุง นั่นคือมนุษย์ได้รับเชื้อจากการถูกยุงกัดนั่นเอง แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การค้นพบว่ายุงเป็นพาหะของมาลาเรียและไข้เหลืองด้วยซึ่งเป็นการค้นพบที่สำคัญมากในเวลานั้น

นอกจากนี้ Manson ยังวิจัยร่วมกับแพทย์ชาวฝรั่งเศส Charles Louis Alphonse Laveran (1845 1922) ค้นพบ Plasmodium spp. ปรสิตที่ก่อโรคมาลาเรียในตัวอย่างเลือดจากประเทศ Algeria ชื่อของเขาถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสกุล Mansonella (Mansonella perstans, Mansonella streptocerca, Mansonella ozzardi) และตั้งเป็นชื่อสปีชีส์ของปรสิตหลายชนิดเช่น Schistosoma mansoni, Spirometra mansoni และ Bothriocephalus mansoni เป็นต้น

Manson ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งเวชศาสตร์เขตร้อน (Father of tropical medicine) และวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1877 ถือเป็นวันเริ่มต้นของเวชศาสตร์เขตร้อนอย่างเป็นทางการ

เขาได้รับเกียรติโดยการติด blue plaque ทั้งที่บ้านเกิดของเขาและที่บ้านใน 50 Welbeck Street, W1 กรุงลอนดอน

ไม่มีความคิดเห็น: