วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(special) lubb-dupp

Charles James Blasius Williams (1805-1889)


เกิดที่เมือง Hungerford, Wiltshire ประเทศอังกฤษในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1805 ซึ่งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เป็นวันเฉลิมฉลอง Saint Blaise จึงกลายมาเป็นคำท้ายชื่อคริสเตียนของเขา

เขาเป็นบุตรชายของบาทหลวง David Williams ส่วนมารดาของเขาเป็นบุตรสาวของศัลยแพทย์ที่ปฏิบัติงานในเมือง Chepstow เวลส์

เขาเรียนกับบิดาที่บ้าน ต่อมา ค.ศ. 1820 ก็เข้าเรียนแพทย์ที่ Edinburgh และจบในปี ค.ศ. 1824 เขาเป็นลูกศิษย์ของ John Thomson (17651846) ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาทั่วไปคนแรกของ Edinburgh

ค.ศ. 1825 เขาไปศึกษาต่อที่ La Charite ประเทศฝรั่งเศสกับ René-Théophile-Hyacinthe Laennec (1781-1826) แพทย์ชาวฝรั่งเศสผู้คิดค้นหูฟังเสียงร่างกาย (stethoscope) ในปี ค.ศ. 1816

เมื่อกลับมายังกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1827 เขาก็นำ stethoscope มาใช้ในทางคลินิก สามปีต่อมาเขาตีพิมพ์ตำราเล่มแรกชื่อ “Rational Exposition of Physical Signs in Diseases of the Chest” ในปี ค.ศ. 1828

ท่านนี้นี่แหละที่เป็นคนบัญญัติศัพท์คำว่า “lubb-dupp” แทนเสียงหัวใจที่หนึ่งและสอง ตอนแรกเขาเข้าใจว่าเสียงหนึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวแต่ตอนหลังสรุปว่าเกิดจากการปิดของ mitral valve และ tricuspid valve

สำหรับเสียงสองนั้นจากการศึกษาในลาร่วมกับ James Hope (1801–1841) แพทย์ผู้มีชื่อเสียงที่โรงพยาบาล St George พบว่าเกิดจากการปิดของ aortic valve และ pulmonary valve ทั้งสองต่างก็อ้างสิทธิในการค้นพบนี้ทำให้บาดหมางกันไป (ในเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นผลงานของ Hope ดังจะกล่าวต่อไป)

นอกจากนี้ Williams ยังเป็นคนค้นพบว่า bronchial hyperreactivity เป็นพยาธิสรีรวิทยาพื้นฐานของโรคหอบหืด

ค.ศ. 1830 เขาแต่งงานกับ Harriet Williams Jenkins บุตรสาวของ James Jenkins ทั้งสองอาศัยอยู่ที่ Half-moon Street ในกรุงลอนดอน

ค.ศ. 1839 เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์ที่ University College ในกรุงลอนดอน

ค.ศ. 1840 ตำราเล่มแรกของเขาตีพิมพ์เป็นครั้งที่สามโดยเปลี่ยนชื่อเป็น “The Pathology and Diagnosis of Diseases of the Chest”

ค.ศ. 1843 ตำราอีกเล่มของเขาคือ “Principles of Medicine” ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก

ตำราทางการแพทย์เล่มสุดท้ายของเขาชื่อ “Pulmonary Consumption” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1871 โดยประพันธ์ร่วมกับลูกชายของเขาเองคือนายแพทย์ Charles Theodore Williams

ค.ศ. 1884 เขาตีพิมพ์อัตชีวประวัติชื่อว่า “Memoirs of Life and Work”เขาเสียชีวิตที่บ้านตัวเองในเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1889 ด้วยวัย 84 ปี


James Hope (1801-1841)


เกิดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1801 ที่เมือง Stockport, Cheshire ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวพ่อค้าที่มั่งคั่ง แต่โชคร้ายที่วัณโรคมาคร่าชีวิตคนในครอบครัวของเขาไปก่อนวัยอันควร

หลังเข้าเรียนมัธยมเขาอาศัยในอ๊อกซ์ฟอร์ดระยะหนึ่งแต่ไม่เคยเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัย

ก่อนจะเข้าเรียนแพทย์เขาไปสมัครเป็นทหารที่หน่วยทหารม้าถือทวน Yeomanry เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ทวนและดาบสองคมขนาดใหญ่ที่ใบมีดแบนกว้าง (broadsword)

ตุลาคม ค.ศ. 1820 เขาลงทะเบียนเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่ง Edinburgh

ค.ศ. 1824 เขาเป็น house physician ที่ Royal Edinburgh Infirmary เขาเห็นความสำคัญของหูฟังเสียงร่างกายจาก fellow house physician ชื่อ Alexander Hannay (1787?–1848) ซึ่งเคยไปเรียนกับ Laennec ที่กรุงปารีส

เขาจบในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1825 และไปเรียนต่อด้านศัลยศาสตร์ที่โรงพยาบาล St. Bartholomew ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1826

หลังเรียนจบเขาก็ไปศึกษาเพิ่มเติมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 ปีและกลับมายังกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1828 โดยทำงานเป็น medical clerk ให้กับ William Frederick Chambers (1786-1855) แพทย์แถวหน้าของกรุงลอนดอนที่โรงพยาบาล St. George

ตำราที่มีชื่อเสียงของเขาคือ “Treatise on Diseases of the Heart and Great Vessels” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1832

เขาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์ในปี ค.ศ. 1834 และได้รับเลือกเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาล St. George ในปี ค.ศ. 1839

เขาทำการทดลองในลาร่วมกับแพทย์ชาวอังกฤษอีกคนคือ Charles James Blasius Williams (1805–1889) โดย Hope เป็นคนต้นคิดให้ผ่าตัดใส่ตะขอไปยับยั้งการปิดของ aortic valve และ pulmonary valve พบว่าเสียงหัวใจเสียงที่สองหายไป เมื่อเอาตะขอออกก็กลับมาได้ยินอีกครั้ง พวกเขาสรุปว่าเสียงหัวใจเสียงที่สองเกิดจากการปิดของ aortic valve และ pulmonary valve นั่นเอง นักประวัติศาสตร์ทางการแพทย์จึงลงความเห็นว่าเป็นผลงานของ Hope

Hope เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้หูฟังเสียงร่างกายเป็นที่ยอมรับของแพทย์โดยทั่วไป แต่น่าเสียดายเขาจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 40 ปีในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1841 จากวัณโรคที่เคยคร่าชีวิตคนในครอบครัวของเขาไปนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: