วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(119) Mother of pediatric cardiology

Helen Brooke Taussig (1898-1986)


เกิดวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1898 ที่เคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐฯ

เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดา 4 คนของ Frank William Taussig (28 ธ.ค. 1859 – 11 พ.ย. 1940) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับ Edith Guild

ปู่ของเธอเป็นแพทย์ เมื่อมารดาเสียชีวิตตอนเธออายุ 11 ปีเป็นแรงบันดาลใจให้เธอตัดสินใจที่จะเรียนแพทย์

ในวัยเด็กเธอมีปัญหาในการอ่าน (dyslexia) โชคดีที่พ่อช่วยติวให้จึงผ่านอุปสรรคนี้มาได้

เธอจบจากวิทยาลัย Radcliff (วิทยาลัยสำหรับผู้หญิงของ Harvard) ในปี ค.ศ. 1917 และจบ B.A. จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียที่ Berkeley ในปี ค.ศ. 1921

เธอพยายามจะเข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดแต่เนื่องจากไม่รับผู้หญิง จึงไปเรียนกายวิภาคศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอสตันแทน Alexander S. Begg คณบดีและศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์ประทับใจเธอมากได้แนะนำให้เธอไปเรียนต่อแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ในบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนแพทย์ไม่กี่แห่งในสหรัฐฯ (ในขณะนั้น) ที่รับผู้หญิงเข้าเรียน

จากจดหมายสนับสนุนโดย Walter Bradford Cannon (19 ต.ค. 1871 - 19 ต.ค. 1945) ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง ค.ศ. 1923 Taussig จึงได้เข้าเรียนแพทย์ที่จอห์นฮอปกินส์และจบในปี ค.ศ. 1927 หนึ่งปีต่อมาก็เป็น fellow ด้านหทัยวิทยา (cardiology) ที่โรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์เธอตั้งใจเป็น internship ด้านอายุรศาสตร์แต่ไม่ผ่านคัดเลือกจึงหันไปเทรนกุมารเวชศาสตร์แทน

ศาสตราจารย์ Edwards A. Park ริเริ่มก่อตั้งคลินิกโรคหัวใจเด็กที่ Harriet Lane Home (หน่วยกุมารเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์) ได้มอบตำแหน่งหัวหน้าคลินิกนี้ให้แก่ Taussig ในปี ค.ศ. 1930 (เธอทำงานที่นี่จนกระทั่งเกษียณในปี ค.ศ. 1963)

ตอนที่จบจากจอห์นฮอปกินส์นั้นเธอสูญเสียการได้ยินจึงต้องใช้เครื่องช่วยฟังและอาศัยการอ่านริมฝีปาก การตรวจหัวใจเธอใช้การสัมผัสมากกว่าการฟังเสียงจากหูฟัง (ว้าว สุดยอดเลย)

ค.ศ. 1944 เธอมีส่วนสำคัญในการพัฒนา Blalock-Taussig shunt

ค.ศ. 1947 Taussig ตีพิมพ์ตำรา “Congenital Malformations of the Heart

ค.ศ. 1949 เธอร่วมกับศัลยแพทย์ชาวเยอรมัน-อเมริกัน Richard John Bing (เกิด 12 ต.ค. 1909) รายงานความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดที่หายากชนิดหนึ่งในบทความ “Complete transposition of the aorta and levoposition of the pulmonary artery: clinical, physiological, and pathological findings.
(American Heart Journal, St. Louis, 1949, 37: 551-559) ปัจจุบันเรียกว่า Taussig-Bing syndrome

ค.ศ. 1954 เธอได้รับรางวัลลาสเกอร์สาขา Clinical Medical Research

ค.ศ. 1959 เธอได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์

ค.ศ. 1965 เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งประธานของ American Heart Association

เธอเป็นหนึ่งในคนสำคัญที่แนะนำให้สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ห้ามนำยา thalidomide มาใช้ในสหรัฐฯเพราะมีรายงานความผิดปกติในทารกแรกเกิดที่ยุโรป

เธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1986 ที่ Kennett Square รัฐเพนซิลเวเนีย (เพียงไม่กี่วันก่อนจะครบรอบวันคล้ายวันเกิด) ศูนย์หัวใจเด็กของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ตั้งชื่อว่า "Helen B. Taussig Children's Pediatric Cardiac Center" เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ

ค.ศ. 2005 Johns Hopkins School of Medicine (JHUSOM) ตั้งชื่อ 4 วิทยาลัยในสังกัดตามบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ 4 ท่านคือ Florence Rena Sabin (9 พ.ย. 1871 3 ต.ค. 1953), Daniel Nathans (30 ต.ค. 1928 – 16 พ.ย. 1999), Vivien Theodore Thomas และ Helen Brooke Taussig

Taussig ได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาแห่งกุมารหทัยวิทยา (Mother of pediatric cardiology)


Blalock-Taussig shunt

Alfred Blalock (5 เม.ย. 1899 – 15 ก.ย. 1964) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัย Vanderbilt เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่อง shock ร่วมกับ Vivien Theodore Thomas (29 ส.ค. 1910 – 26 พ.ย. 1985) ช่างไม้และนักเทคนิคทางศัลยกรรมชาวแอฟริกันอเมริกันผู้ซึ่ง Blalock มองเห็นความสามารถจึงรับมาเป็นผู้ช่วย ผลงานวิจัยทำให้วงการแพทย์เข้าใจเรื่อง shock มากยิ่งขึ้น

มีงานวิจัยหนึ่งในปีค.ศ. 1938 เขาทดลองผ่าตัดทำทางเบี่ยง (shunt)โดยเอาหลอดเลือดแดงใต้ไหปลาร้าข้างซ้าย (left subclavian artery)ไปเชื่อมต่อกับหลอดเลือดแดงปอดข้างซ้าย (left pulmonary artery) เพื่อเพ่มความดันเลือดในปอด แต่การทดลองไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราะแม้เลือดจะไปปอดเพิ่มขึ้นแต่ความดันกลับลดลง

ต่อมา Blalock ย้ายไปเป็นหัวหน้าศัลยแพทย์ที่จอห์นฮอปกินส์เขาได้ชวน Thomas ติดตามไปด้วย เนื่องจาก Thomas ไม่ได้จบปริญญาจึงได้แค่ตำแหน่งพนักงานทั่วไปเท่านั้น Blalock จึงช่วยเจรจาจนเขาได้ตำแหน่งนักวิจัยเทคนิคทางศัลยกรรม

ขณะที่เป็นทารกในครรภ์ทุกคนจะมีหลอดเลือดหนึ่งที่ชื่อ Ductus arteriosus เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่กับหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจไปยังปอด เมื่อแรกคลอดหลอดเลือดนี้จะตีบตันไปเองตามธรรมชาติ ถ้าหากมันไม่ปิดจะทำให้เกิดโรค Patent ductus arteriosus (PDA) ซึ่งจะเหนื่อยง่ายเพราะปริมาณเลือดที่ไปยังปอดมีจำนวนมาก

ค.ศ. 1943 Taussig สังเกตว่าผู้ป่วย TOF ที่เป็น PDA ร่วมด้วยจะมีอาการน้อยกว่าผู้ป่วยที่เป็น TOF เพียงอย่างเดียว คงเป็นเพราะมี shunt ให้เลือดไปยังปอดมากขึ้นนั่นเอง จึงคิดว่าถ้าทำ shunt ให้ผู้ป่วย TOF อาการน่าจะดีขึ้น เธอจึงไปปรึกษาเรื่องนี้กับ Blalock

Blalock และ Thomas ปัดฝุ่นงานวิจัยเก่าขึ้นมาอีกครั้งและร่วมกันพัฒนาเทคนิคการทำ shunt ดังกล่าวต่อจนประสบผลสำเร็จในสุนัขทดลอง และในที่สุดวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1944 หนูน้อย Eileen Saxon ก็เป็นผู้ป่วย TOF รายแรกที่เข้ารับการผ่าตัดทำ shunt นี้ แม้หลังการผ่าตัดจะอาการแย่ลงแต่ในที่สุดก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี การผ่าตัดประสบผลสำเร็จทำให้ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ค.ศ. 1945 Blalock และ Taussig รายงานเรื่องนี้ในบทความ The surgical treatment of malformations of the heart in which there is pulmonary stenosis or pulmonary atresia” (The Journal of the American Medical Association, Chicago, 1945, 128: 189-202.) การผ่าตัดนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Blalock-Taussig shunt ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเพราะได้จุดประกายให้กับผู้ที่วิจัยในด้านนี้มีความหวังและมีกำลังใจที่จะพัฒนางานต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: