วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(103) Shigella dysenteriae

การถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดและปวดเวลาอุจจาระปรากฎหลักฐานใน Ebers Papyrus ของอียิปต์เมื่อ 1,550 ปีก่อนคริสตกาล Hippocrates (ประมาณ 460 BC – 370 BC) บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันเรียกสิ่งนี้ว่าโรคบิด (Dysentery) มาจากภาษาละติน Dysenteria ซึ่งเป็นการผสมคำระหว่าง “dys” ที่แปลว่า “ไม่ดี” กับ “enteron” ที่แปลว่า “ลำไส้”

ค.ศ. 1875 แพทย์ชาวรัสเซีย Fedor Aleksandrevitch Losch หรือ Lesh (1840-1903) ค้นพบเชื้ออะมีบาที่เป็นสาเหตุของโรคบิดจากกล้องจุลทรรศน์ที่กรุง St Petersburg ประเทศรัสเซีย เขาเรียกมันว่า Amoeba coli ค.ศ. 1895 O. Casagrandi และ P. Barbagallo รายงานเชื้ออะมีบาที่อยู่ร่วมกับมนุษย์โดยไม่มีอันตรายและตั้งชื่อว่า Entamoeba coli ซึ่งตัวย่อคือ E. coli เหมือน Escherichia coli เลยอย่าสับสนกันนะครับ ต่อมา ค.ศ. 1903 Fritz Richard Schaudinn (19 ก.ย. 1871 - 22 มิ.ย. 1906) นักสัตววิทยาชาวเยอรมันเปลี่ยนชื่อเชื้ออะมีบาที่ Losch ค้นพบจาก Entamoeba coli เป็น Entamoeba histolytica และเป็นชื่อที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน (Schaudinn ศึกษาเชื้อ Entamoeba histolytica ด้วยตนเองจนเกิดป่วยและเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1906)

โรคบิดที่เกิดจากอะมีบาเรียกว่าโรคบิดมีตัว (Amebic dysentery) แต่มีผู้ป่วยอีกส่วนที่ส่องกล้องจุลทรรศน์แล้วไม่เห็นตัวอะมีบาจึงเรียกว่าโรคบิดไม่มีตัว (Nonamebic dysentery) นักวิทยาศาสตร์ทั้งยุโรป, อเมริกา รวมถึงญี่ปุ่นต่างก็เสนอว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีขนาดเล็กกว่าอะมีบา

ไม่มีใครค้นพบแบคทีเรียดังกล่าว จนกระทั่งปี ค.ศ. 1897 โรคบิด (ภาษาญี่ปุ่นคือ “sekiri” มาจากลักษณะของคนจีนหมายถึง “อุจจาระเหลวสีแดง”) ระบาดหนักในญี่ปุ่นมีรายงานผู้ป่วยกว่า 91,000 รายและอัตราการตายสูงมากกว่า 20% แพทย์ชาวญี่ปุ่น Kiyoshi Shiga (1871-1957) ศึกษาผู้ป่วย 36 รายที่ Institute for the Study of Infectious Diseases และแยกเชื้อแบคทีเรียรูปแท่ง (bacillus) ที่ก่อโรคได้จึงตั้งชื่อว่า Bacillus dysentericus หนึ่งปีต่อมาเขาเปลี่ยนชื่อเป็น Bacillus dysenteriae โรคบิดไม่มีตัวจึงมีอีกชื่อว่า Bacillary dysentery

ค.ศ. 1919 ตำรา Manual of Tropical Medicine ของ Aldo Castellani (8 ก.ย. 1874 – 3 ต.ค. 1971) และ Albert John Chalmers (1870-1920) ตั้งชื่อเชื้อนี้ว่า Shigella dysenteriae เพื่อเป็นเกียรติแก่ Shiga และกลายเป็นชื่อที่ยอมรับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา โรคที่เกิดจากเชื้อนี้เรียกว่า Shigellosis สำหรับสารพิษที่เชื้อนี้สร้างก็เรียกว่า Shiga toxin (สารพิษนี้ไม่ได้สร้างจากเชื้อ Shigella เท่านั้น อย่างเชื้อ Escherichia coli O157:H7 ก็สร้าง Shiga toxin ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด HUS)

Kiyoshi Shiga (1871-1957)


เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1871 ที่เมือง Sendai ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น

เขาเป็นบุตรคนที่ 5 ของ Shin กับ Chiyo Sato บิดาของเขาเป็นผู้ดูแลสูงสุดของชนชั้นซามูไร

ช่วงนั้นเป็นช่วงปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองของญี่ปุ่น บิดาของเขาสูญเสียตำแหน่งไปซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเศรษฐกิจของครอบครัว Kiyoshi จึงเติบโตขึ้นมาในครอบครัวมารดาและใช้สกุลของมารดาก่อนแต่งงานคือ Shiga

ค.ศ. 1886 ครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่กรุงโตเกียว

เขาเรียนแพทย์ที่ Tokyo Imperial University ในปี ค.ศ. 1892 และจบในปี ค.ศ. 1896 จากนั้นก็ทำงานที่ Institute for the Study of Infectious Diseases ในกรุงโตเกียวภายใต้แพทย์ชาวญี่ปุ่น Kitasato Shibasaburo (29 ม.ค. 1853 - 13 มิ.ย. 1931)

ค.ศ. 1899 Shiga ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการห้องปฎิบัติการที่ Institute for the Study of Infectious Diseases

ค.ศ. 1900 เขาแต่งงานกับ Ichiko ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 8 คน

ค.ศ. 1901 เขาไปทำงานร่วมกับแพทย์ชาวเยอรมัน Paul Ehrlich (14 มี.ค. 1854 – 20 ส.ค. 1915) ค้นหาสารสีที่สามารถฆ่าเชื้อปรสิต trypanosome ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหงาหลับ (sleeping sickness) ที่ Institut für Experimental Therapie ใน Frankfurt ประเทศเยอรมนี

เขากลับมาทำงานที่ Institute for the Study of Infectious Diseases ในปี ค.ศ. 1905

เมษายน ค.ศ. 1920 Shiga ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านแบคทีเรียวิทยาที่มหาวิทยาลัย Keio ในเมือง Minato กรุงโตเกียว ปลายปีนั้นเองเขาก็ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งชาติของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ (อาณานิคมของญี่ปุ่นขณะนั้น) ตามคำร้องขอของรัฐบาลญี่ปุ่น

Keijo Imperial University ที่กรุงโซลก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1926 เขาได้รับตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ช่วงปี ค.ศ. 1929 – 1931 เขาได้รับตำแหน่งประธานของมหาวิทยาลัย จากนั้นก็ลาออกจากตำแหน่งและกลับกรุงโตเกียวเพื่อไปทำงานวิจัยที่เขารักต่อ เขาพยายามคิดค้นวัคซีนป้องกันโรค Shigellosis แต่ก็ไม่สำเร็จ

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นช่วงเลวร้ายสำหรับชีวิตของเขา ค.ศ. 1944 ภรรยาของเขาเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหาร Naoshi บุตรชายคนโตของเขาซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยในไทเปเสียชีวิตกลางทะเลขณะเดินทางมาร่วมงานศพมารดา Akira บุตรชายอีกคนของเขาติดเชื้อวัณโรคขณะสู้รบที่จีนและเสียชีวิตหลังสงคราม บ้านที่โตเกียวถูกระเบิดทำลายเขาจึงไปอยู่กับ Makoto บุตรชายอีกคนที่เมือง Sendai

เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1957 จนถึงปัจจุบันร้อยกว่าปีแล้วที่ค้นพบเชื้อนี้ก็ยังไม่มีใครคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น: