ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์
นิยมเสน (พ.ศ. 2455-2513)
เกิดในปี พ.ศ. 2455
พ.ศ.
2477 จบแพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
หลังจบการศึกษาไปเป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาอยู่หนึ่งปีก่อนจะลาออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมตำรวจ
(แผนกแพทย์กองกลาง) ได้รับพระราชทานยศร้อยตำรวจเอก
พ.ศ.
2481 ได้รับทุนจากมูลนิธิอะเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลดท์ (Alexander
von Humboldt) ไปศึกษาต่อที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจนจบปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต
(Dr. med.) จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์กในปี พ.ศ. 2483 จากนั้นได้ฝึกอบรมและดูงานด้านนิติเวชศาสตร์ (Forensic
medicine) ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินอีกระยะหนึ่งก่อนเดินทางกลับประเทศไทย
คำว่า Forensic
medicine มาจากภาษาละติน “forensis” ที่แปลว่า
“ที่ตกลงข้อพิพาททางกฎหมาย” กับคำว่า “medicine” ที่แปลว่า “การแพทย์”
มีสอนนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนราชแพทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2456
เข้าใจว่าพระยาดำรงแพทยาคุณ [ชื่น พุทธิแพทย์ (พ.ศ.
2424-2496)] เป็นอาจารย์สอนท่านแรกและเป็นผู้บัญญัติศัพท์เรียกวิชานี้ว่า
“นิติเวชวิทยา”
แต่จากความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ (Rockefeller
foundation) ในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแพทย์ให้ได้มาตรฐานชั้นปริญญาในปี
พ.ศ. 2464 วิชานี้ไม่ปรากฎอยู่ในหลักสูตร
(แต่มีหลักฐานว่าพระยาดำรงแพทยาคุณยังคงสอนวิชานี้จนถึงปี พ.ศ. 2470)
เมื่อนายแพทย์สงกรานต์กลับเมืองไทยได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์โทในแผนกวิชาพยาธิวิทยา
คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลในปี พ.ศ. 2484 โดยได้รับมอบหมายให้สอนในสาขาวิชาปาราสิตวิทยา ขณะเดียวกันอาจารย์ได้พยายามชักจูงให้คณะฯเห็นความสำคัญของวิชานิติเวชวิทยาจนในที่สุดปี
พ.ศ. 2487 ก็ได้รับอนุญาตให้สอนวิชานี้แก่นักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4 สัปดาห์ละ 1
ชั่วโมง ในภาคเรียนที่ 3 (แต่เป็นการเรียนนอกหลักสูตรจึงไม่มีการสอบ)
นับได้ว่าเป็นแพทย์ปริญญารุ่นแรกที่ได้เรียนนิติเวชวิทยา
ในรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2440-2507) ได้ก่อตั้ง
“มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486
และโอนคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นคณะหนึ่งในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งนี้
มิถุนายน
พ.ศ. 2489
เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยคือกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
เมื่อมีการตั้งกรรมการแพทย์ชันสูตรพระบรมศพ อาจารย์สงกรานต์เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรวมถึงนายแพทย์สุด
แสงวิเชียร หัวหน้าแผนกวิชากายวิภาคศาสตร์
เพื่อพิสูจน์ให้กระจ่างชัดอาจารย์สงกรานต์เป็นผู้เสนอแผนการทดลองยิงศพต่อคณะกรรมการฯและได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองตามข้อเสนอ นับเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสนับสนุนงานทางนิติเวชวิทยาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
(ปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ตรวจพระบรมศพยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของภาควิชานิติเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
จากผลงานดังกล่าวคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลเห็นความสำคัญของวิชานิติเวชวิทยาขึ้นมาบ้างจึงให้มีการสอบไล่วิชานี้ในปีการศึกษา
2489 แต่ไม่ได้นำคะแนนไปรวมในการสอบเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต
ต่อมามีการสอนวิชานี้ให้กับนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4
ในภาคเรียนสุดท้ายเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงและมีการสอบไล่โดยนำคะแนนไปรวมกับวิชารังสีวิทยา เมื่อมีการตั้งสาขาวิชานิติเวชวิทยาขึ้นมาในการสอบไล่ถือว่าวิชานี้เป็นวิชาย่อยหนึ่งเช่นเดียวกับจักษุวิทยาและรังสีวิทยาโดยถ้าสอบตกในวิชาย่อยเหล่านี้สองวิชามีผลเท่ากับตกวิชาใหญ่หนึ่งวิชา
นอกจากนี้อาจารย์สงกรานต์ยังได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษาอื่นด้วยโดยเริ่มไปสอนนักเรียนนายร้อยตำรวจในปี
พ.ศ. 2493 โรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจในปี พ.ศ. 2495 คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2498 อบรมพนักงานอัยการและผู้ช่วยผู้พิพากษาในปี
พ.ศ. 2499 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2500
และยังได้รับเชิญไปสอนที่สถาบันต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนวาระสุดท้ายของชีวิต (เนื่องจากงานด้านนิติเวชวิทยามากขึ้นอาจารย์จึงเลิกสอนวิชาปาราสิตวิทยาในปี
พ.ศ. 2494)
เนื่องจากงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาจารย์จึงไปสมัครเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี
พ.ศ. 2495
ปีเดียวกันนี้เองกรมตำรวจได้ก่อตั้งโรงพยาบาลตำรวจขึ้นอาจารย์จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชวิทยา
ขณะนั้นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยคดีและศพเป็นประจำคือโรงพยาบาลกลาง
โรงพยาบาลศิริราชไม่รับผู้ป่วยคดีไว้รักษาพยาบาล ผู้ป่วยที่ตายจึงไม่ใช่ศพคดีที่ต้องชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2495
อาจารย์สงกรานต์จึงทำบันทึกถึงหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาเสนอให้โรงพยาบาลศิริราชรับศพที่มีคดี วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2495 นายแพทย์ชัชวาลย์
โอสถานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชในขณะนั้นจึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจแจ้งว่าทางโรงพยาบาลยินดีช่วยเหลืองานชันสูตรพลิกศพ
ในระยะแรกพนักงานสอบสวนยังส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลศิริราชเพียงเล็กน้อย อาจารย์สงกรานต์จึงทำบันทึกขอความช่วยเหลือไปถึงผู้บังคับการโรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจซึ่งอาจารย์ได้รับเชิญให้ไปสอนอยู่
จากนั้นมาโรงพยาบาลศิริราชก็ได้รับศพมาชันสูตรเพิ่มขึ้นทุกปี
ต้นปี
พ.ศ. 2496 แผนกวิชาพยาธิวิทยารับแพทย์ประจำบ้านสาขานิติเวชวิทยา 1 คน ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2496 คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลได้ออกระเบียบการรับชันสูตรผู้ป่วยคดีจึงนับได้ว่าเป็นการให้บริการด้านนิติเวชวิทยาโดยสมบูรณ์
พ.ศ.
2499
อาจารย์ทำหนังสือถึงคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะให้พิจารณางานด้านนิติเวชวิทยาเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. 2500
คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะมีมติให้นิติเวชวิทยาเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่งและแต่งตั้งให้อาจารย์เป็นหนึ่งในอนุกรรมการฯสาขานิติเวชวิทยา
เดิมนิติเวชวิทยาเป็นเพียงหนึ่งในห้าสาขาวิชาของแผนกวิชาพยาธิวิทยา
(อีกสี่สาขาวิชาคือ พยาธิวิทยา บัคเตรีวิทยา ปาราสิตวิทยา และพยาธิวิทยาคลินิก)
แต่เนื่องจากงานนิติเวชวิทยาเพิ่มขึ้นทุกปีและมีจำนวนอาจารย์เพิ่มขึ้น วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508
จึงได้รับการจัดตั้งเป็นแผนกวิชานิติเวชวิทยาแห่งแรกของไทย
โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์รับตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาคนแรกได้พัฒนางานในทุก
ๆ ด้านรวมถึงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นิติเวชวิทยาอีกด้วย (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์
สงกรานต์ นิยมเสน)
พ.ศ. 2512
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ
“มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” เป็น “มหาวิทยาลัยมหิดล”
คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล”
และเปลี่ยนคำว่า “แผนกวิชา” เป็น “ภาควิชา” (ต่อมาวันที่
19 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 ภาควิชานิติเวชวิทยาได้เปลี่ยนชื่อเป็น
“ภาควิชานิติเวชศาสตร์”
เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานและใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน)
ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์
เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2513 จากผลงานการบุกเบิกด้านนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยจึงสมควรได้รับการยกย่องเป็น
“บิดาแห่งนิติเวชศาสตร์ของไทย (Father of forensic medicine in Thailand)”
เอกสารอ้างอิง
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 9
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น