วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(24) Father of Neuroscience

Otto Loewi (1873-1961)


เกิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1873 ที่เมือง Frankfurt am Main ประเทศเยอรมนี เป็นบุตรชายคนแรกและคนเดียวของพ่อค้าไวน์ผู้มั่งคั่ง Jacob Loewi และ Anna Willstätter

เขาเรียนมัธยมที่ Frankfurt City Gymnasium (humanistic grammar school) และไปได้ดีในวิชามนุษยศาสตร์

ค.ศ. 1891 เขาเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่ง Munich และ Strasbourg ตามความต้องการของบิดา เขาไม่ค่อยเข้าฟังบรรยายวิชาแพทย์แต่ไปอยู่ที่คณะปรัชญามากกว่า อย่างไรก็ตามเขาจบแพทย์จากมหาวิทยาลัยแห่ง Strasbourg ได้ในปี ค.ศ. 1896 ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่องผลอันหลากหลายของยาต่อหัวใจกบที่แยกออกมาภายใต้แพทย์ชาวเยอรมัน Oswald Schmiedeberg (1838–1921) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งเภสัชวิทยายุคใหม่

หลังจบการศึกษาเขาไปเรียนเคมีอนินทรีย์วิเคราะห์กับ Martin Freund ใน Frankfurt และเรียนเคมีสรีรวิทยาที่สถาบันของ Franz Hofmeister ใน Strassburg

ค.ศ. 1897 เขาเป็นผู้ช่วยของ Carl Harko von Noorden (1858–1944) อายุรแพทย์ชาวเยอรมันที่ City Hospital ใน Frankfurt เขาไม่ได้สนใจงานด้านคลินิกอยู่แล้วและเมื่อเห็นผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิตจากวัณโรคและปอดบวมซึ่งรักษาไม่ได้ในขณะนั้น เขาก็มุ่งไปที่การวิจัยพื้นฐานทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเภสัชวิทยา

ค.ศ. 1898 – 1904 เขาเป็นผู้ช่วยของ Hans Horst Meyer (1853–1939) ศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียงที่มหาวิทยาลัยแห่ง Marburg-an-der-Lahn ประเทศเยอรมนี ต่อมา ค.ศ. 1905 เขาตามไปเป็นผู้ช่วยของ Meyer ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

ในปี ค.ศ. 1908 เขาแต่งงานกับ Guida Goldschmiedt บุตรสาวของ Guido Goldschmiedt (1850-1915) ศาสตราจารย์ด้านเคมีชาวออสเตรีย ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 4 คน (ลูกชายสามคนคือ Hans, Victor, Guido และลูกสาวหนึ่งคนคือ Anna)

ค.ศ. 1909 เขาได้รับตำแหน่ง Ordinary professor และเป็นหัวหน้าหน่วยเภสัชวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่ง Graz ประเทศออสเตรีย

เขามีผลงานมากมายแต่ที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1920 สมัยนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าบริเวณ synapse ของเซลล์ประสาทนั้นสื่อสารด้วยไฟฟ้าหรือสารเคมีกันแน่ คืนวันเสาร์อีสเตอร์เขาฝันถึงการทดลองที่จะพิสูจน์เรื่องนี้ได้ เมื่อตื่นมากลางดึกเขาจึงจดเรื่องนี้ไว้ในกระดาษและเข้านอนต่อ แต่เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าเขาต้องตกใจเมื่ออ่านสิ่งที่จดไว้ไม่ออก เขาเครียดทั้งวันและรู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันที่ยาวนานที่สุดในชีวิต อย่างไรก็ตามคืนนั้นเขาฝันซ้ำในเรื่องเดิมแต่คราวนี้ไม่พลาดเขารีบไปทำการทดลองที่ห้องปฏิบัติการทันที

เขาแยกหัวใจกบออกมาสองอัน อันแรกมีเส้นประสาท vagus ติดมาด้วยขณะที่อีกอันไม่มี ทั้งสองแช่อยู่ในสารละลาย Ringer เขาใช้ไฟฟ้ากระตุ้นที่เส้นประสาท vagus พบว่าหัวใจเต้นช้าลง เมื่อเขานำของเหลวจากอ่างแรกไปหยดใส่หัวใจอันที่สองพบว่าทำให้หัวใจเต้นช้าลงเช่นกัน แสดงให้เห็นว่ามีสารเคมีหลั่งออกมาจากเส้นประสาท vagus และทำให้หัวใจเต้นช้าลง เขาตั้งชื่อสารนี้ว่า Vagusstoff ต่อมาพบว่าสารนี้คือ Acetylcholine ที่ค้นพบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914 โดยแพทย์ชาวอังกฤษ Sir Henry Hallett Dale (1875-1968)

การทดลองพิสูจน์ให้เห็นว่าเซลล์ประสาทสื่อสารด้วยสารเคมีที่เรียกว่าสารสื่อประสาท (neurotransmitter) โดย acetylcholine เป็นสารสื่อประสาทตัวแรกที่ถูกค้นพบ ทำให้ Loewi และ Dale ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 1936 ร่วมกัน

เมื่อนาซีเยอรมันรุกล้ำเข้าสู่ประเทศออสเตรียในปี ค.ศ. 1938 Loewi ถูกบังคับให้โอนเงินรางวัลโนเบลไปยังธนาคารที่นาซีควบคุมอยู่ ภรรยาของเขาถูกจับตัวไว้และเขาถูกบังคับให้ออกจากประเทศ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1938 เขาย้ายไปอยู่ที่อังกฤษ

ค.ศ. 1940 เขาได้รับการเชื้อเชิญไปเป็น Research professor ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1946 เขาได้รับสัญชาติอเมริกัน เขาทำงานอยู่ที่นี่จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1961

Loewi ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบิดาของประสาทวิทยาศาสตร์ (father of neuroscience)

ไม่มีความคิดเห็น: