วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(7) Discoverer of blood circulation

William Harvey (1578-1657)

เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1578 ที่เมืองฟอล์คสโตน (Flockstone) ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรชายของ Thomas Harvey กับ Joane Halke บิดาของเขาเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองและเป็นพ่อค้า ด้วยความมีฐานะทำให้เขามีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี

Harvey สำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียน Canterbury Gramma ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ อายุ 16 ปีเขาได้รับทุนเข้าศึกษาวิชาแพทย์ที่วิทยาลัย Gonville and Caius มหาวิทยาลัยเคมบริจด์ เขาได้รับปริญญาตรี Bachelor of Arts ในปี ค.ศ. 1597 ด้วยวัยเพียง 19 ปี

เขาเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยปาดัว (University of Padua) ประเทศอิตาลีอันเป็นสุดยอดมหาวิทยาลัยแพทย์สมัยนั้น เขาศึกษาภายใต้บุคคลสองคนคือ Hieronymus Fabricius (1537-1619) ศัลยแพทย์ชาวอิตาลีผู้ค้นพบ valve ของหลอดเลือดดำ (การเป็นลูกศิษย์ของ Fabricius มีส่วนสำคัญที่ทำให้ Harvey ค้นพบระบบการไหลเวียนโลหิตในเวลาต่อมา) และ Cesare Cremonini (1550-1631) นักปรัชญาสายอริสโตเติล

หลังจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1602 เขาก็กลับอังกฤษและแต่งงานกับ Elizabeth. C. Browne บุตรสาวของ Lancelot Browne ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ Queen Elizabeth

ค.ศ. 1609 เขาเข้าทำงานเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาล St Bartholomew's Hospital (ทำจนถึงปี ค.ศ. 1643)

ค.ศ. 1618 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ King James I (1566–1625) และเมื่อกษัตริย์ James I เสด็จสวรรคต กษัตริย์ Charles I (1600–1649) ขึ้นครองราชย์แทนก็แต่งตั้งให้เขาเป็นแพทย์ประจำพระองค์

Harvey ศึกษาระบบไหลเวียนโลหิตจนค้นพบว่ามันเป็นวงจรปิด เขาตีพิมพ์เรื่องนี้ในหนังสือชื่อ Exercitation Anatomica de Motu Cordis et Sanguinis in Animalibus (An Anatomical Exercise on the Motion of the Heart and Blood in Animals) เมื่อปี ค.ศ. 1628

แต่เลือดจากหลอดเลือดแดงเข้าสู่หลอดเลือดดำได้อย่างไร ตอนนั้นไม่มีใครอธิบายได้แม้แต่ตัว Harvey เอง ความคิดของเขาจึงถูกต่อต้านอย่างมาก จนกระทั่ง ค.ศ. 1660 สามปีหลังเขาเสียชีวิต Marcello Malpighi (1628–1694) แพทย์ชาวอิตาลีใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูพบว่าหลอดเลือดฝอย (Capillary) เป็นตัวเชื่อมระหว่างปลายของหลอดเลือดแดงกับหลอดเลือดดำ ระบบไหลเวียนโลหิตที่ Harvey เสนอจึงได้รับการยอมรับ

Harvey เลื่อมใสในคำสอนของอริสโตเติลมาก เมื่ออริสโตเติลเชื่อว่าตัวอ่อนของเด็กเกิดจากการที่เชื้ออสุจิของผู้ชายเข้าไปผสมกับเลือดประจำเดือนของผู้หญิง เขาจึงคิดที่จะทดสอบเรื่องนี้ เนื่องจากเขาเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของกษัตริย์แห่งประเทศอังกฤษซึ่งทรงโปรดปรานการล่ากวางมากโดยออกล่ากวางสัปดาห์ละครั้ง ทำให้เขาคิดที่จะใช้กวางที่ล่าได้ในการทดสอบทฤษฎีการปฏิสนธิของอริสโตเติล

ตามปกติกวางตัวผู้จะติดสัดในราวปลายเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งกวางจะคึกคะนองและดุมาก ทำให้พรานไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จในการฆ่ามันด้วยดาบเลย พรานจึงได้หันไปล่ากวางตัวเมียแทน ดังนั้นในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมเมื่อ เขาได้กวางมาก็จะผ่ามดลูกของกวางหาลูกอ่อนของมันทันที แต่เขาก็ต้องสับสนเพราะไม่เห็นไข่กวางที่ได้รับการปฏิสนธิใด ๆ เลย จนกระทั่งกวางนั้นเป็นกวางที่ถูกฆ่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน (Harvey คิดว่าไข่กวางจะได้รับการปฏิสนธิตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน) เขาจึงสรุปว่าตัวอ่อนมิได้มาจากเชื้ออสุจิของตัวผู้ผสมกับเลือดประจำเดือนของตัวเมียทันทีที่สัตว์มีเพศสัมพันธ์กันดังที่อริสโตเติลคิด

การที่ Harvey ไม่สามารถเห็นไข่ใด ๆ ที่ได้รับการผสมพันธุ์นั้นก็เพราะไข่มีขนาดเล็กมากคือมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวเพียง 0.1 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง และกว่าไข่จะมีขนาดใหญ่ให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าก็ต้องคอยอีกนานถึง 10 วัน ดังนั้น Harvey จึงไม่เห็นอะไรในมดลูกของกวางเลย ทั้งๆ ที่มีการผสมพันธุ์กันแล้ว

Harvey รู้สึกลังเลที่จะตีพิมพ์ผลงานของตน แต่เมื่อได้รับการชักนำจากเพื่อนฝูง เขาจึงเขียนหนังสือชื่อ Exercitationes de generatione animalium (On the Generation of Animals) ในปี ค.ศ. 1651 ไม่ว่าใครจะพูดยังไงก็ตาม เขาก็ยังเชื่อว่าในมดลูกของสัตว์จะต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้สัตว์เกิดออกมาหลังจากการผสมพันธุ์

ขณะที่ Harvey แต่งหนังสือเสร็จนั้น เขามีอายุได้ 73 ปีแล้ว เขาเลือกภาพของเทพ Zeus ลงหน้าปกหนังสือโดยในพระหัตถ์มีไข่ใบหนึ่งและมีภาพสัตว์เช่น คน งู จระเข้ และแมลงต่าง ๆ พุ่งตัวออกมาจากไข่ใบนั้นสมดังกับที่อริสโตเติลได้กล่าวไว้ว่า ชีวิตทุกชีวิตมาจากไข่ (Exovo Omnia)"

Harvey ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ค้นพบระบบไหลเวียนโลหิต (Discoverer of blood circulation) เขาเสียชีวิตที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1657 โดยไม่มีทายาทสืบสกุล

ไม่มีความคิดเห็น: