วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

MMM(38) Prophet of Bacteriology

Ignaz Philipp Semmelweis (1818-1865)

เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1818 ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี
เขาเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยโดยเป็นลูกคนที่ 5 จากทั้งหมด 10 คนของ József Semmelweis (1778–1846) และ Terézia Müller Semmelweis
ค.ศ. 1837 เขาเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย  แต่ปีต่อมาได้เปลี่ยนไปเรียนแพทย์และจบในปี ค.ศ. 1844
เนื่องจากไม่ได้รับตำแหน่งด้านอายุรศาสตร์  เขาจึงตัดสินใจไปเป็นสูติแพทย์แทน  โดยเริ่มต้นเป็นผู้ช่วยของ Johann Klein (1788–1856) ศาสตราจารย์ด้านสูติศาสตร์ที่โรงพยาบาลทั่วไปเวียนนา (Vienna General Hospital) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1846
Oliver Wendell Holmes (1809-1894) สูติ-นรีแพทย์ชาวอเมริกันตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1842 แล้วว่าไข้หลังคลอด (childbed fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากแพทย์ไม่ล้างมือจึงแนะนำให้ใช้สารประกอบคลอไรด์ของน้ำมะนาวล้างมือ  แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลยืนยันจึงไม่มีใครเชื่อ 
ที่โรงพยาบาลทั่วไปเวียนนามีหอผู้ป่วยหลังคลอดอยู่ 2 ตึก  Semmelweis สังเกตว่าตึกแรกที่ใช้สำหรับสอนนักเรียนแพทย์นั้น  ผู้ป่วยมีไข้หลังคลอดและอัตราการตายสูงถึง 13.10%  ขณะอีกตึกที่ใช้สำหรับสอนพยาบาลผดุงครรภ์มีอัตราการตายเพียง 2.03%  เขาตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น?
จากการศึกษาเขาพบว่าความแตกต่างอยู่ที่นักเรียนแพทย์ต้องเข้าเรียนวิชาชันสูตรศพก่อนจะมาตรวจผู้ป่วยในตึก  ขณะที่พยาบาลผดุงครรภ์ไม่ต้องเรียนวิชานี้จึงสันนิษฐานว่ามีอะไรบางอย่างจากศพเป็นสาเหตุของไข้ในหญิงหลังคลอด  แต่ตอนนั้นเขาไม่มีหลักฐานยืนยัน
เกิดเหตุบังเอิญขึ้นในปี ค.ศ. 1847  เพื่อนร่วมงานที่ดีของเขาชื่อ Jakob Kolletschka (1804–1847) ขณะผ่าชันสูตรศพหญิงที่เสียชีวิตจากไข้หลังคลอด  มีดผ่าตัดของนักศึกษาเกิดทิ่มที่นิ้วมือเขา  ต่อมา Kolletschka ก็ป่วยเป็นไข้อาการคล้ายคลึงกับผู้ป่วยไข้หลังคลอดและเสียชีวิตในที่สุด  ผลการชันสูตรศพพบว่ามีลักษณะเหมือนกับผลการชันสูตรศพหญิงที่เสียชีวิตจากไข้หลังคลอด  นับเป็นหลักฐานที่สนับสนุนความคิดของ Semmelweis  เขาจึงออกนโยบายให้มีการล้างมือหลังเรียนชันสูตรศพก่อนจะเข้าไปในตึกผู้ป่วย  และเมื่อตรวจผู้ป่วยเสร็จต้องล้างมือก่อนจะเข้าไปตรวจผู้ป่วยรายต่อไป  ปรากฏว่าอัตราการตายลดลงจากเดิมมากและบางเดือนเป็นศูนย์เลย
ธันวาคม ค.ศ. 1847 Ferdinand Ritter von Hebra (1816–1880) ตจแพทย์ชาวออสเตรียบรรณาธิการวารสารการแพทย์ชั้นนำในออสเตรียตีพิมพ์การค้นพบของ Semmelweis และยกย่องว่าเทียบได้กับการค้นพบวัคซีนไข้ทรพิษ (smallpox vaccine) โดยแพทย์ชาวอังกฤษ Edward Anthony Jenner (17491823) เลยทีเดียว
Semmelweis ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล (Pioneer in nosocomial infection)  แต่น่าเสียดายคนส่วนใหญ่ที่นั่นไม่เชื่อทฤษฎีเชื้อโรค (germ theory) จึงไม่มีใครทำตามแถมยังต่อต้านอีกด้วย  ในที่สุด ค.ศ. 1850 เขาจึงย้ายออกจากกรุงเวียนนา  กลับไปทำงานในโรงพยาบาลที่กรุงบูดาเปสต์บ้านเกิดของเขาเอง  แม้นโยบายการล้างมือสามารถลดอัตราการตายในหญิงหลังคลอดของโรงพยาบาลแห่งนั้นเหลือเพียง 0.85%  แต่ทฤษฎีของเขาก็ยังคงถูกต่อต้าน (พฤติกรรมการปฏิเสธความรู้ใหม่ที่ค้านความเชื่อเดิมจึงเรียกกันว่า Semmelweis reflex หรือ Semmelweis effect)
ค.ศ. 1855 เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์
                ค.ศ. 1857 เขาแต่งงานกับ Mária Weidenhoffer (1837–1910) บุตรสาวของพ่อค้าผู้ประสบความสำเร็จใน Pest  ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 5 คนเป็นบุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 3 คน
ค.ศ. 1861 เขาตีพิมพ์หนังสือชื่อ “Die Aetiologie, der Begriff und die Prophylaxis des Kindbettfiebers (The Cause, Concept and Prophylaxis of Childbed Fever)” แต่ไม่ได้รับความสนใจ  ต่อมาเขาเริ่มแสดงอาการของโรคซึมเศร้า 
อาการโรคซึมเศร้ากำเริบหนักจนวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1865 ตจแพทย์ชาวออสเตรีย Ferdinand Ritter von Hebra ต้องหลอกล่อพาเขาเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช  เขาพยายามหลบหนีออกจากโรงพยาบาลจึงถูกยามหลายคนตี ถูกใส่ straitjacket และอยู่ในห้องมืด  แผลที่ได้รับบาดเจ็บเกิดอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเดียวกับที่เป็นสาเหตุของไข้หลังคลอด
สองสัปดาห์ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1865 เขาก็เสียชีวิตจากเชื้อโรคที่เขาพยายามหาทางป้องกันมาตลอดชีวิต 
                Semmelweis ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ศาสดาแห่งแบคทีเรียวิทยา (Prophet of Bacteriology)”  ชื่อของเขาได้รับเกียรติไปตั้งเป็นชื่อสถานที่หลายแห่งอาทิ  Semmelweis University (มหาวิทยาลัยด้านสุขภาพของประเทศฮังการี), Semmelweis Medical History Museum (ตั้งอยู่ที่บ้านเดิมของเขา), Semmelweis Klinik (โรงพยาบาลสตรีในประเทศออสเตรีย) และ Semmelweis Hospital (โรงพยาบาลในประเทศฮังการี) เป็นต้น
                นอกจากนี้ ค.ศ. 2008 ยังได้รับเกียรติเป็นแบบพิมพ์เหรียญที่ระลึก 50 ยูโรของประเทศออสเตรียอีกด้วย  โดยด้านหน้าเป็นรูปของเขากับสัญลักษณ์ทางการแพทย์ rod of Asclepius ส่วนด้านหลังเป็นรูปโรงพยาบาลทั่วไปเวียนนา (Allgemeines Krankenhaus Wien) กับแพทย์สองคนกำลังล้างมือ

เอกสารอ้างอิง
                1 ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์. ประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ ตอนการค้นพบที่ยิ่งใหญ่. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน; 2553.
2 Wyklicky H, Skopec M. Ignaz Philipp Semmelweis, the prophet of bacteriology. Infect Control 1983;  4(5): 367-70.

ไม่มีความคิดเห็น: