วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

MMM(221) บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ (แพทย์แผนไทย)

“หมอชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ (แพทย์แผนไทย)”
ในสมัยพุทธกาล ณ เมืองไพศาลีอันมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีปราสาทถึง 7,707 หลัง เรือนยอด 7,707 หลัง สวนดอกไม้ 7,707 แห่งและสระโบกขรณี 7,707 สระ  ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเมืองเดียวที่มีหญิงงามเมืองจนได้ชื่อว่าเป็น “นครโสเภณี” ตำแหน่งนี้ในสมัยนั้นเป็นตำแหน่งมีเกียรติเพราะพระราชาทรงแต่งตั้งโดยคัดสตรีที่มีเรือนร่างสะคราญตาที่สุด ชำนาญฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรีอย่างดีเยี่ยม 
                พ่อค้าจากเมืองราชคฤห์จำนวนหนึ่งเดินไปค้าขายที่เมืองไพศาลีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอุบายนำรายได้เข้าเมือง  เมื่อกลับบ้านจึงเข้าเฝ้ากราบทูลให้พระเจ้าพิมพิสารทราบ  พระองค์เห็นด้วยจึงทรงคัดเลือกหญิงงามเมืองบ้างจนในที่สุดได้แต่งตั้งสตรีวัยรุ่นนางหนึ่งชื่อ “สาลวดี” ให้ดำรงตำแหน่งนี้
                นางสาวลดีครองตำแหน่งนี้ไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยบังเอิญ  นางจึงแสร้งทำเป็นป่วยและงดรับแขกชั่วคราวจนกระทั่งคลอดบุตรเป็นชาย  ตกดึกนางสั่งให้หญิงรับใช้คนสนิทเอาทารกน้อยใส่กระด้งไปทิ้งที่กองขยะนอกเมือง  เดชะบุญกุศลบันดาลให้เจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จผ่านมาพอดี  เห็นฝูงแร้งการุมอยู่ที่กองขยะนั้น  เมื่อมีคนเดินมาใกล้ก็ฝูงแร้งกาก็พากันแตกฮือบินหนีไป  พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปดูว่าแร้งกามันรุมกินอะไร  มหาดเล็กวิ่งไปดูจึงได้ทราบว่ามีเด็กทารกเพศชายนอนอยู่ในกระด้งบนกองขยะ  จึงตรัสถามว่า “ยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้ว” มหาดเล็กทูลตอบว่า “ยังมีชีวิตอยู่ พะยะค่ะ”  พระองค์ทรงเกิดความสงสารจึงทรงรับสั่งให้นำเข้าวังรับไว้เป็นโอรสบุญธรรม ทรงขนานนามทารกน้อยว่า “ชีวกโกมารภัจจ์” มาจากคำว่า “ชีวโก (ยังมีชีวิตอยู่)” กับคำว่า “โกมารภัจจ์ (บุตรบุญธรรม)” หรือชื่อเรียกตามภาษาไทยว่า “บุญยัง”
                ชีวกเป็นเด็กฉลาดสามารถเอาชนะลูกหลวงอื่นๆได้หมด  เด็กในวังเจ็บใจที่แพ้จึงชอบล้อว่าเป็นลูกไม่มีพ่อแม่บ้าง เป็นเด็กข้างถนนบ้าง  เพื่อเอาชนะคำดูหมิ่นเขาจึงมุมานะที่จะศึกษาหาความรู้เอาชนะลูกผู้ดีให้ได้  เขาตัดสินใจหนีออกจากวังไปยังเมืองตักกศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์  แต่เนื่องจากไม่มีเงินจึงอาสารับใช้พระอาจารย์แทน การเป็นคนขยันขันแข็ง อ่อนน้อมถ่อมตนและตั้งใจเรียนอาจารย์จึงถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ทั้งหมด  เรียนอยู่นาน 7 ปีจนรอบรู้แต่ไม่มีทีท่าว่าจะจบสักทีเริ่มคิดถึงคนทางบ้านจึงเข้าไปเรียนถามอาจารย์ว่าเมื่อไหร่จะถือว่าเรียนจบเสียที  อาจารย์ตอบว่าตั้งใจจะให้เรียนต่ออีกปีสองปีจึงให้กลับแต่ถ้าอยากกลับแล้วจริงๆก็ตามใจ  แต่ขอทดสอบความรู้ก่อนถ้าสอบผ่าจึงจะให้กลับ โดยการสอบคือให้ชีวกสำรวจภายในรัศมี 400 เส้นดูว่าหญ้าชนิดไหน ใบไม้เปลือกไม้ชนิดไหนใช้ทำยาไม่ได้ให้เก็บตัวอย่างมาให้ดู  ชีวกใช้เวลาสำรวจประมาณเจ็ดวันก็กลับมามือเปล่าเพราะต้นไม้ใบหญ้าทุกต้นใช้ทำยาได้หมด  อาจารย์จึงบอกว่าเรียนจบหลักสูตรแพทย์แล้วให้กลับบ้านได้พร้อมมอบเงินจำนวนเล็กน้อยให้ใช้ระหว่างทาง (ที่ให้น้อยเป็นอุบายเพื่อให้ได้ฝึกใช้วิชาความรู้หาเงินเพิ่มเอง)
                เดินทางถึงเมืองสาเกตซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองตักกศิลากับเมืองราชคฤห์  เสบียงและเงินที่ติดตัวมาก็หมดเกลี้ยง  ขณะกำลังคิดหาทางออกอยู่พอดีก็ได้ยินคนพูดกันว่ามีเมียเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา 7 ปีหมดเงินรักษาไปมากมายไม่หายเสียทีจนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต  ชีวกจึงขันอาสาปรุงยารักษาให้  ปรากฏว่าพอนัตถุ์ยาของหมอชีวกเพียงครั้งเดียวอาการของเมียเศรษฐีก็หายเป็นปลิดทิ้งจึงตบรางวัลให้เขาถึง 4,000 กหาปณะ (ราวหนึ่งหมื่นหกพันบาท)  ชื่อเสียงนำมาซึ่งงานมากมายเมื่อรวบรวมเงินได้เพียงพอแล้วชีวกก็เดินทางกลับเมืองมาตุภูมิทันที  เมื่อถึงเมืองราชคฤห์ก็รีบเข้าเฝ้าเสด็จพ่อเพื่อขอขมาที่หนีไปโดยไม่บอกกล่าว
                เวลานั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรด้วยโรค “ภคันทลาพาธ (ริดสีดวงทวารหนัก)” แพทย์หลวงถวายพระโอสถขนาดใดๆก็ไม่หายขาด  จึงทรงรับสั่งให้หมอชีวกเข้าเฝ้า  หมอหนุ่มถวายโอสถเพียงสองสามครั้งก็ทรงหายขาดจากอาการ  เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพิมพิสารมากจึงทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นแพทย์หลวงพร้อมทั้งพระราชทานสวนมะม่วงให้ด้วย
                ครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน วัดแห่งแรกที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย  พระพุทธองค์เกิดเป็นโรคท้องผูกอย่างแรง  พระอานนทเถระจึงไปขอร้องให้หมอชีวกถวายการรักษาพระพุทธองค์  หมอชีวกรู้สึกปลาบปลื้มใจมากที่จะได้มีโอกาสถวายการรักษาพระพุทธองค์ เขาจึงหาก้านอุบลมาสามก้านแล้วนำมาอบยาไปถวายให้พระพุทธองค์ทรงสูดก้านละครั้ง เมื่อทรงสูดยาที่ได้รับก็ทรงถ่ายพระบังคนหนัก (อุจจาระ) ออกเป็นปกติ  หมอชีวกเลื่อมใสในพระพุทธองค์เป็นอย่างมากจึงกราบทูลถวายตัวเป็นคิลานุปัฏฐากของพระองค์  นอกจากนี้ยังถวายสวนมะม่วงให้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ด้วย
              ชื่อเสียงของหมอชีวกแพร่สะพัดไปทั่วว่าเป็นหมอเทวดา โด่งดังไปถึงเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตีซึ่งอยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันตก พระเจ้าจัณฑปัชโชต กษัตริย์ผู้โหดร้ายประชวรด้วยโรค ปัณฑุโรค (ดีซ่าน)”   จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปยังพระเจ้าพิมพิสารขอตัวแพทย์หลวงไปถวายการรักษา หมอชีวกถวายการรักษาจนหายแต่ก็เกือบถูกประหารชีวิตเพราะพระองค์ไม่ชอบเนยใสแต่ยาหมอชีวกจำเป็นต้องใส่เนยใส ถึงกับสั่งคนออกตามล่าหมอชีวก แต่หมอชีวกก็เอาชีวิตรอดกลับมาได้ด้วยปัญญา 
เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตหายประชวรแล้วทรงสำนึกในบุญคุณหมอชีวกจึงทรงส่งผ้ากัมพลหรือผ้าแพรเนื้อละเอียดอย่างดีสองผืนไปพระราชทานแก่หมอชีวกถึงกรุงราชคฤห์พร้อมกับมีพระราชสาส์นไปขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสารด้วย หมอชีวกได้นำผ้าสองผืนนั้นไปถวายพระพุทธองค์  สมัยนั้นพระภิกษุห้ามรับผ้าสำเร็จจากคฤหัสถ์จะต้องหาเศษผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้วมาเย็บจีวรเอง  หมอชีวกวิงวอนจนพระพุทธองค์ทรงรับผ้ารวมถึงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้าสำเร็จที่ชาวบ้านถวายได้ตั้งแต่บัดนั้นมา
เหตุการณ์ระทึกขวัญไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธองค์ถูกพระเทวทัตลอบทำร้ายโดยกลิ้งหินบนยอดเขาคิชฌกูฏหมายจะให้ทับพระองค์ ด้วยเดชะพระบารมีก้อนหินนั้นกลิ้งลงปะทะง่อนผาเบื้องบนพระเศียรทำให้กระเด็นไปทางอื่น  อย่างไรก็ตามสะเก็ดหินได้กระเด็นไปโดนพระบาททำให้ห้อพระโลหิต  พระสงฆ์สาวกช่วยกันหามพระพุทธองค์มายังสวนมะม่วงที่ประทับ  ขณะรักษาคนไข้ในเมืองพอหมอชีวกทราบข่าวว่าพระพุทธองค์ถูกลอบทำร้ายได้รับบาดเจ็บก็รีบไปยังสวนมะม่วงทันที ได้ถวายการรักษาโดยชะล้างและพันแผลให้ก่อนจะทูลลาไปดูคนไข้ในเมืองต่อ
                ตลอดชีวิตของหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้บำเพ็ญแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไม่เลือกฐานะจนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะในด้าน "เป็นที่รักของปวงชน"

เอกสารอ้างอิง
                เสฐียรพงษ์ วรรณปก. ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์  

                พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม. ชาดกและประวัติพุทธสาวก-พุทธสาวิกา