วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

MMM(150) Mr. Hospital Quality of Thailand

นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล (Anuwat Supachutikul)


เกิดวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2495 จังหวัดฉะเชิงเทรา

พ.ศ. 2519 จบแพทยศาสตร์บัณฑิตจาก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นแพทย์ใช้ทุนรุ่นที่ 6 โดยเป็นแพทย์ฝึกหัดที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี

พ.ศ. 2520-2521 เป็นผู้อำนวยการ รพ.สา จ.น่าน จากนั้นก็รับทุนจาก รพ.อุดรธานีไปเรียนต่อศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจบ วว.ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ในปี พ.ศ. 2525

พ.ศ. 2525-2533 เป็นหัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ รพ.อุดรธานี

พ.ศ. 2533 นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย หัวหน้าฝ่ายแผนงานและโครงการกอง รพ.ภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุขได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกจึงชวนให้อาจารย์อนุวัฒน์มารับตำแหน่งแทน ตอนทำงานต้องไปกลับกรุงเทพฯ-อุดรธานีทุกสัปดาห์ ทำอยู่หนึ่งปีเริ่มไม่ไหวเลยคิดจะกลับมาอยู่อุดรธานีตามเดิม ขณะจะกลับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บอกว่ามีทุนจากความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับเยอรมันที่จะทำโครงการบัตรสุขภาพ 500 บาทให้ไปเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์สุขภาพ (Health Economics) จึงมีโอกาสได้ไปเรียน MSc Health Planning & Financing ที่ London School of Hygiene and Tropical Medicine มหาวิทยาลัยลอนดอน และจบในปี พ.ศ. 2535 เมื่อกลับมาก็เป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานประกันสุขภาพ

งานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล

Ernest Amory Codman บุกเบิกงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลที่สหรัฐฯตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 จนกลายมาเป็น Joint Commission on Accreditation of Healthcare Organizations (JCAHO) ในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยตื่นตัวในเรื่องนี้น้อยมาก

พ.ศ. 2535 อาจารย์อนุวัฒน์ไปประชุมที่ประเทศสิงคโปร์ได้พบกับชาวออสเตรเลียชื่อ Kai Roland ซึ่งทำงานด้านคุณภาพของโรงพยาบาลจึงชวนให้มาสอนเรื่องนี้แก่ประเทศไทยนำร่องในโรงพยาบาลรัฐ 8 แห่ง

พ.ศ. 2535 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พึ่งก่อตั้ง ปีต่อมา นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ชวนไปทำงานด้วยโดยอาจารย์อนุวัฒน์ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการแผนงานวิจัยของ สวรส. ในปี พ.ศ. 2536 และเริ่มทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลนับแต่นั้นมา

พ.ศ. 2539 จัดทำมาตรฐานโรงพยาบาลฉบับปีกาญจนาภิเษก นำร่องใช้ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนรวม 35 แห่ง

ภาคีพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Collaboration for Hospital Quality Improvement and Accreditation- CHIA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2541 มีมติสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ซึ่งคณะกรรมการ สวรส. มีความเห็นชอบให้จัดตั้ง พรพ. เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยอาจารย์อนุวัฒน์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ พรพ.

พ.ศ. 2549 จัดทำมาตราฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

พ.ศ. 2552 พรพ.ได้ปรับเปลี่ยนสถานะเป็นองค์การมหาชนใช้ชื่อว่า สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (The Healthcare Accreditation Institute) ตัวย่อใหม่คือ สรพ. โดยอาจารย์ยังคงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สรพ. จนถึงปัจจุบัน อาจารย์ได้รับฉายาว่า Mr. Hospital Quality of Thailand

สรพ. จัดประชุมวิชาการที่เรียกว่า HA National Forum เป็นประจำทุกปีโดยปีหน้าเป็นครั้งที่ 12 จัดระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม พ.ศ. 2554 ณ ศูนย์การประชุม IMPACT เมืองทองธานี ในหัวข้อ “ความงามในความหลากหลาย (Beauty in Diversity)” ใครใคร่จะไปเชิญดูรายละเอียดได้ที่ http://www.ha.or.th/ha2010/th/home/main_1.php

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

MMM(149) Father of local anesthesia

Karl Koller (1857-1944)


เกิดวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1857 ที่ Susice โบฮีเมีย (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเชก)

เขาเรียนแพทย์ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียและจบในปี ค.ศ. 1882

แพทย์ชาวออสเตรียผู้นี้ตอนแรกทำงานเป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลทั่วไปกรุงเวียนนาและเป็นเพื่อนร่วมงานกับ Sigmund Freud (1856 – 1939) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ต่อมาเขาเปลี่ยนไปทำงานเป็นจักษุแพทย์

ยาสลบถูกค้นพบมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วแต่ในหัตถการบางอย่างไม่ต้องการให้ผู้ป่วยสลบแค่เพียงให้ชาเฉพาะที่ก็พอ เช่นเดียวกับ Koller เจอปัญหาว่าผู้ป่วยจะกระพริบตาแม้ถูกสัมผัสเพียงเบา ๆ ทำให้การทำหัตถการทางตาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เขาจึงทดลองนำ chloral hydrate และมอร์ฟีนมาใช้เป็นยาชาที่ตาของสัตว์ทดลองแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ค.ศ. 1883 Freud ลองนำโคเคนไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ แต่ไม่ค่อยได้ผล เขาสังเกตว่าเมื่อเคี้ยวยานี้จะทำให้ลิ้นชาและเล่าเรื่องนี้แก่ Koller

วันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1884 Koller ทดลองหยดสารละลายโคเคนที่ตาผู้ป่วยเป็นครั้งแรกปรากฎว่าออกฤทธิ์ทำให้ชาและปัญหาในการทำหัตถการหมดไป นับเป็นการใช้ยาชาเฉพาะที่(local anesthesia) เป็นครั้งแรก วันที่ 15 กันยายน ปีนั้นเองมีการประชุมของสมาคมจักษุวิทยาเยอรมันที่เมือง Heidelberg ประเทศเยอรมนี เนื่องจากพึ่งทำงานด้านนี้จึงไม่มีทุนเดินทางไปร่วมประชุม เพื่อนร่วมงานที่ชื่อ Joseph Brettauer ได้ไปเข้าร่วมประชุมจึงไปนำเสนอเรื่องนี้แทน การค้นพบของเขาได้รับการยอมรับไม่เฉพาะแต่ที่เยอรมนีแต่กระจายไปทั่วโลก ไม่เฉพาะด้านจักษุวิทยาแต่รวมไปถึงในสาขาอื่น ๆ ก็นำไปประยุกต์ใช้ด้วย

ค.ศ. 1888 เขาย้ายไปทำงานเป็นจักษุแพทย์ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ

ตอนอายุ 10 ขวบ Chauncey Depew Leake (5 ก.ย. 1896 – 11 ม.ค. 1978) ตาบอด Koller รักษาจนกลับมามองเห็นอีกครั้ง ต่อมา Leake เป็นนักเภสัชวิทยาชาวอเมริกันที่ค้นพบยาชา divinyl ether

ค.ศ. 1922 Koller ได้รับเหรียญรางวัล Lucien Howe* เป็นคนแรก

เขาเสียชีวิตในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1944 ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ

Koller ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของการใช้ยาชาเฉพาะที่ (father of local anesthesia) และ Freud ตั้งฉายาแก่เขาว่า Coca Koller

*รางวัลนี้สมาคมจักษุแพทย์อเมริกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Lucien Howe (1848–1928) จักษุแพทย์ชาวอเมริกัน

ปล 1 โคเคนขนาดสูงทำให้เยื่อบุกระจกตาถลอกได้ต่อมาจึงถูกแทนที่ด้วยสารสังเคราะห์ที่เป็นพิษน้อยกว่าเช่น tetracaine และ proparacaine)

ปล 2 การค้นพบของ Koller ทำให้ William Stewart Halsted ติดโคเคนจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

เอกสารอ้างอิง

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2515656/?page=1

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

MMM(148) Salter-Harris classification

Robert Bruce “Bob” Salter (1924-2010)


เกิดวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1924 ที่เมือง Stratford รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา

จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโตในปี ค.ศ. 1947 จากนั้นก็ใช้เวลาสองปีที่ Grenfell Medical Mission ใน Newfoundland และหนึ่งปีเป็น McLaughlin fellow ที่ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

ค.ศ. 1955 เขากลับไปเป็นสตาฟที่โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยเด็กในโทรอนโต ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์และเป็นหัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ 40 ปี ต่อมาได้รับตำแหน่งหัวหน้าศัลยแพทย์

ค.ศ. 1960 เขาคิดค้นการผ่าตัดรักษาโรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิดที่เรียกว่า Salter operation

ค.ศ. 1963 เขาร่วมกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิคส์ชาวแคนาดาอีกคนคือ William Robert Harris (1922-2005) จำแนกการบาดเจ็บของ epiphyseal plate ที่รู้จักกันในชื่อ Salter-Harris Classification

ค.ศ. 1970 เขาบุกเบิกการทำ Continuous passive motion (CPM) เพื่อรักษาการบาดเจ็บของข้อ ปีนั้นเองเขาตีพิมพ์ตำรา “Disorders of the Musculo-Skeletal System” เป็นครั้งแรก

เขาเสียชีวิตในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 ที่โทรอนโต รัฐออนแทรีโอ


William Robert “Bob” Harris (1922-2005)


เกิดวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1922 ที่โทรอนโต ประเทศแคนาดา

จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโตในปี ค.ศ. 1945

เขาเทรนด้านศัลยศาสตร์ที่โทรอนโตและที่โรงพยาบาลทั่วไปแมสซาชูเซตส์ในบอสตัน

ค.ศ. 1952 เขาเป็น McLaughlin fellow

ค.ศ. 1953 เขากลับมาทำงานที่โรงพยาบาลทั่วไปโทรอนโตและได้เป็น Fellow of the Royal College of Surgeons of Canada

ค.ศ. 1963 เขาร่วมกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิคส์ชาวแคนาดาอีกคนคือ Robert Bruce Salter (1924-2010) จำแนกการบาดเจ็บของ epiphyseal plate ที่รู้จักกันในชื่อ Salter-Harris Classification

ภรรยาของเขาชื่อ Barbara ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 4 คนคือ Nancy, Janet, Rob และ Pam

เขาเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับอ่อนในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 2005

วันเสียชีวิตของ Harris อ้างอิงจาก CMAJ. 2006 February 28; 174(5): 731. (http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1389845/)

วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553

MMM(147) Kuentscher nail

Gerhard Kuentscher (1900-1972)


เกิดวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1900 ที่ Zwickau ประเทศเยอรมนี เป็นบุตรชายของผู้อำนวยการโรงงาน

ค.ศ. 1919 เขาเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยใน Wuerzburg, Hamburg และ Jena โดยจบในปี ค.ศ. 1926 จากนั้นก็ไป residency ที่ Freiburg ระหว่างปี ค.ศ. 1928-1930 ในสาขาอายุรศาสตร์และรังสีวิทยา ต่อมาเขาไปเทรนศัลยศาสตร์ที่ Kiel ที่ปรึกษาอาวุโสของเขาคือ Willi Anschuetz กระตุ้นให้เขาสนใจในเรื่องการหายของกระดูกหัก เขาจบการเทรนในปี ค.ศ. 1935

ค.ศ. 1939 เขาได้รู้จักกับ Ernst Pohl (12 ธ.ค. 1876 – 2 พ.ย. 1962) วิศวกรชาวเยอรมันเจ้าของบริษัทผลิตอุปกรณ์ผ่าตัด Ernst Pohl Company (ปัจจุบันคือบริษัท Stryker Osteosynthesis Kiel) ทั้งสองร่วมกันคิดค้นเหล็กเพื่อใช้ผ่าตัดเข้าไปในแกนของกระดูกต้นขาที่หัก (intramedullary nailing) พฤศจิกายน ปีนั้นเองเขาผ่าตัดในมนุษย์อย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่ง Kiel

ค.ศ. 1941 เขาเป็นแพทย์ของกองทัพเยอรมัน ค.ศ. 1942 เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ ปีนั้นเองเขาถูกส่งไปที่ Kemi ใน Lapland เมืองตอนเหนือสุดของประเทศฟินแลนด์ในฐานะหัวหน้าแพทย์ เขาสอน IM nailing แก่ศัลยแพทย์ชาวฟินแลนด์

กันยายน ค.ศ. 1944 เยอรมนีถอนกำลังออกจากฟินแลนด์ ตอนแรกกองทัพเยอรมันไม่ยอมรับเทคนิคนี้แต่ในที่สุดก็ยอมรับเนื่องจากผลลัพธ์ที่ดีของมัน ช่วงสงครามโลกกองทัพเยอรมันเก็บเทคนิคนี้ไว้เป็นความลับและใช้รักษาทหารเพื่อให้สามารถกลับสู่สมรภูมิรบได้ในไม่กี่สัปดาห์ เมื่อเชลยสงครามเหล่านี้กลับประเทศของตนได้พาเหล็กที่ขากลับไปด้วยทำให้เทคนิคของ Kuentscher เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เทคนิคนี้มีชื่อว่า Kuentscher procedure และอุปกรณ์นี้เรียกว่า Kuentscher nail ซึ่งหลังสงครามเขากับ Pohl ร่วมกันพัฒนาต่อจนเป็นลักษณะสามแฉกเหมือนใบโคลเวอร์ที่รู้จักกันในชื่อ Kuentscher cloverleaf nail

ค.ศ. 1946 เขาทำงานที่สาขาศัลยศาสตร์ของโรงพยาบาล Kreis

ค.ศ. 1957 เขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของ Hamburg Haffenkrankenhaus หนึ่งในโรงพยาบาลอุบัติเหตุชั้นนำในเวลานั้น เขาทำงานที่นี่จนกระทั่งเกษียณในปี ค.ศ. 1965 แต่ยังคงทำงานเป็นแพทย์ที่ปรึกษาของโรงพยาบาล St. Franciscan ใน Flensburg จนกระทั่งเสียชีวิต

วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1972 เขาเสียชีวิตที่โต๊ะทำงานในบ้านของเขาที่ Gluecksburg เยอรมันตะวันตก ขณะปรับปรุงตำราคลาสสิกของเขาที่ชื่อ Praxis der Marknagelung (Practice of Medullary Nailing)”

IM nailing ถือเป็นการปฏิวัติการรักษากระดูกหักเลยทีเดียวทำให้ Kuentscher ได้รับฉายาว่า “giant of surgery”

เอกสารอ้างอิง

1. http://engineering.union.edu/~rapoffa/MER440/ch08extras/Kuntscher%20AOF%20Tribute.pdf

2. http://www.ejbjs.org/cgi/reprint/56/1/208.pdf

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

MMM(146) Marjolin's ulcer

Jean-Nicolas Marjolin (1780-1850)

เกิดวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1780 ที่ Ray-sur-Saone ใน Gray ประเทศฝรั่งเศส

ตอนอายุ 1 ขวบบิดาของเขาเสียชีวิตขณะช่วยเหลือคนงานที่ตกลงไปในบ่อ

Marjolin เริ่มต้นทำงานเป็นนักกฎหมายจากนั้นก็ไปอยู่กองทัพเป็นช่วงสั้น ๆ ก่อนจะเข้าเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาล Commercy

เขายังคงติดต่อกับเพื่อนเก่าตอนเป็นทหารซึ่งมารดาไม่ชอบ ค.ศ. 1800 มารดาจึงส่งเขาไปเรียนแพทย์ต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงปารีสด้วยจดหมายแนะนำจาก Boyer เขาเรียนเก่งมากจนศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส Guillaume Dupuytren (1777-1835) ชวนมาเข้าสมาคมที่เขาก่อตั้งเองชื่อ Societie Anatomique

เขาเป็น interne ที่ Hotel-Dieu, เป็นผู้ช่วยด้านกายวิภาคศาสตร์ในปี ค.ศ. 1805, เป็น prosector ในปี ค.ศ. 1806 และจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1808

ช่วงนั้นโรงเรียนแพทย์เอกชนกำลังเฟื่องฟู Marjolin จึงตั้งโรงเรียนของตัวเองในปี ค.ศ. 1810 โดยสอน 2 วิชาคือกายวิภาคศาสตร์และศัลยศาสตร์ เขาเป็นครูที่ดีโรงเรียนจึงได้รับความนิยม นอกจากนี้เขายังเมตตาให้นักเรียนที่ยากจนเรียนฟรีอีกด้วย

ค.ศ. 1811 Raphael Bienvenu Sabatier (1732–1811) ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตทำให้ตำแหน่งหัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์การผ่าตัด (operative surgery) ของ Hotel-Dieu ว่างลง การแข่งขันกันระหว่าง Marjolin กับ Dupuytren ทำให้ความเป็นเพื่อนขาดสะบั้นโดยในที่สุดตำแหน่งตกเป็นของ Dupuytren ส่วน Marjolin ได้เป็นเพียงผู้ช่วย

ด้วยความเป็นครูที่มีชื่อเสียง ค.ศ. 1818 เขาได้รับตำแหน่งหัวหน้าสาขาพยาธิวิทยาภายนอก (external pathology) และครองตำแหน่งนี้จนกระทั่งเสียชีวิต

ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสผู้นี้บรรยาย ulcer บนแผลเป็น ในปี ค.ศ. 1828 โดยใช้คำว่า ulcere verruquex

เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1850 ปีนั้นเอง Robert William Smith (1807-1873) ศัลยแพทย์ชาวไอริชเริ่มใช้คำว่า warty ulcers of Marjolin

ค.ศ. 1903 John Chalmers DaCosta (1863-1933) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันเริ่มใช้คำว่า Marjolin’s ulcer และพบว่ามันเป็นมะเร็ง (squamous cell carcinoma) ที่เกิดบนตำแหน่งที่มีการบาดเจ็บเรื้อรัง (มักเกิดขึ้นที่ตำแหน่งของแผล burn)

เอกสารอ้างอิง

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1034876/?page=1