วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

MMM(217) "The Agnew Clinic"


David Hayes Agnew (1818-1892)

 

เกิดวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1818 ที่ Nobleville (ปัจจุบันคือ Christiana) ใน Lancaster County รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นบุตรคนเดียวของนายแพทย์ Robert Agnew กับ Agnes Noble

ค.ศ. 1833 เข้าเรียนที่วิทยาลัยเจฟเฟอร์สัน  ก่อนที่ปีต่อมาจะย้ายไปเรียนศิลปศาสตร์ที่วิทยาลัย Newark ในเดลาแวร์ซึ่งญาติคือบาทหลวง John Holmes เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาอยู่  แต่ปีต่อมาบาทหลวง Holmes ย้ายออก Agnew จึงกลับไปเรียนแพทย์กับบิดา

ค.ศ. 1836 เขาเข้าเรียนแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนียและจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1838 ด้วยวิทยานิพนธ์ "Medical Science and the Responsibility of Medical Character."  หลังจบการศึกษาก็กลับไปทำเวชปฏิบัติที่ Lancaster County กับบิดา 

ค.ศ. 1841 แต่งงานกับ Margaret Creighton Irwin บุตรสาวของ Samuel Irwin เจ้าของโรงหล่อเหล็กขนาดใหญ่  เมื่อ Samuel Irwin เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1842 เป็นเหตุให้ Agnew ต้องทิ้งงานด้านการแพทย์และมาช่วยทำกิจการของครอบครัว  เพียงแค่สามปีเท่านั้นกิจการก็ล้มเหลวทำให้เขามีอิสระที่จะกลับมาทำเวชปฏิบัติอีกครั้ง

เขาทำเวชปฏิบัติที่ Cochranville ใน Chester County เป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนจะกลับมาที่ฟิลาเดลเฟียในปี ค.ศ. 1848 และเป็นผู้บรรยายที่โรงเรียนกายวิภาคศาสตร์ฟิลาเดลเฟีย

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นศัลยแพทย์จึงฝึกฝนด้านกายวิภาศาสตร์จนช่ำชอง  ค.ศ. 1852 เขาซื้อโรงเรียนกายวิภาคศาสตร์ฟิลาเดลเฟียมาปรับปรุง  ค.ศ. 1854 เขาก่อตั้งโรงเรียนการผ่าตัดทางศัลยศาสตร์ฟิลาเดลเฟียและบริหารงานจนโรงเรียนทั้งสองมีชื่อเสียง

ค.ศ. 1854 ได้รับตำแหน่งศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาล Blockley ในฟิลาเดลเฟีย

ค.ศ. 1858 เป็นผู้บรรยายสำหรับ Henry Hollingsworth Smith (1815-1890) ศาสตราจารย์ด้านศัลยศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย

ค.ศ. 1863 ได้รับตำแหน่งผู้สาธิตด้านกายวิภาคศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย

ค.ศ. 1871 ศาสตราจารย์ Smith เกษียณ  Agnew จึงได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านศัลยศาสตร์ต่อ

ค.ศ. 1875 จิตกรชาวอเมริกัน Thomas Cowperthwait Eakins (1844-1916) วาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบชื่อ “The Gross Clinic” ให้กับ Samuel David Gross (8 ก.ค. 1805 – 6 พ.ค. 1884) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันที่วิทยาลัยแพทย์โทมัสเจฟเฟอร์สัน



ภาพ “The Gross Clinic”

 

ค.ศ. 1878-1883 Agnew ประพันธ์ตำรา “The Principles and Practice of Surgery”

ค.ศ. 1878 ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง John Rhea Barton Professor of Surgery เป็นคนแรก

นอกจากมหาวิทยาลัยแล้วเขายังทำงานที่อื่นด้วยได้แก่ โรงพยาบาลฟิลาเดลเฟีย, โรงพยาบาลจักษุ Wills รวมถึงโรงพยาบาลออร์โธปิดิคส์ด้วย  ช่วงสงครามกลางเมืองเขาทำงานเป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลHestonville และโรงพยาบาล Mower สร้างชื่อเสียงไว้มาก  เมื่อประธานาธิบดี James Abram Garfield (1831-1881) ถูกยิงในปี ค.ศ. 1881 Agnew จึงถูกเรียกไปยังวอชิงตันเพื่อเป็นหัวหน้าศัลยแพทย์ที่ปรึกษา

ค.ศ. 1889 เขาลาออกจากตำแหน่งด้วยวัย 70 ปี  นักเรียนแพทย์สามรุ่นได้รวบรวมเงินกันจำนวน 750 เหรียญสหรัฐว่าจ้าง Eakins ให้มาวาดภาพอาจารย์ของพวกเขาเพื่อเป็นที่ระลึก   

 

                                                                                      


ภาพ “The Agnew Clinic”

 

ด้วยความชื่นชมในตัว Agnew จิตรกรมุ่งมั่นที่จะให้เป็นผลงานชิ้นใหญ่สุดจึงแจ้งกับนักเรียนแพทย์ว่าจะไม่คิดค่าจ้างเพิ่มแต่นักเรียนแพทย์ต้องสละเวลามาเป็นนายแบบให้กับภาพด้วย  เขาใช้เวลาวาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบขนาดใหญ่ที่สุดในชีวิตนานสามเดือนจนเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 1 พฤษภาคม  ภาพนี้ชื่อ “The Agnew Clinic” เป็นการผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งเต้านมข้างซ้ายโดย Agnew ยืนถือมีดผ่าตัดในมือซ้ายบรรยายให้นักเรียนแพทย์ฟัง  หากสังเกตจะเห็นพัฒนาการของการผ่าตัดได้ชัดเจนโดยภาพ “The Gross Clinic” นั้นศัลยแพทย์ใส่ชุดปกติแต่ภาพนี้ศัลยแพทย์เริ่มใส่กาวน์สะอาดสีขาวเนื่องจากตอนนั้นเทคนิคการผ่าตัดปลอดเชื้อของ Joseph Lister (1827–1912) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษเป็นที่ยอมรับแพร่หลายแล้ว  ส่วนการให้ยาสลบของวิสัญญีแพทย์พัฒนาจากการใช้ผ้าคลุมหน้าเป็นใช้หน้ากากครอบแทน  อย่างไรก็ตามการสวมถุงมือและผ้าคาดจมูกยังไม่เกิดในยุคนี้ 

 
                                                                       


1.             Professor David Hayes Agnew, M.D. 1838
John Rhea Barton Professor of Surgery 1878-1889

2.             Dr. J. William White (1850-1916), M.D. 1871
John Rhea Barton Professor of Surgery 1900-1912

3.             Dr. Joseph Leidy (1823-1891), M.D. 1887
Assistant Demonstrator of Pathology, Histology and Morbid Anatomy

4.             Dr. Ellwood R. Kirby, M.D. 1871
Resident Physician

5.             Dr. Frederick H. Milliken, M.D. 1879
Assistant Surgeon in the Orthopedic Dispensary

6.             Thomas Eakins (1844-1916)
The artist

7.             Miss Mary U. Clymer
Nurse

8.             Joseph Allison Scott (1865-1909), M.D.1889

9.             Charles N. Davis (1862-?), M.D. 1889

10.      John Thomas Carpenter, Jr. (1866-?), M.D. 1889

11.      John Bacon (1865-1915), M.D. 1889

12.      Benjamin Brooke (1866-1900), M.D. 1889

13.      Jedediah Howe Adams (1866-1919), M.D. 1889

14.      William Campbell Posey (1866-1934), M.D. 1889

15.      Harry Toulmin (1865-?), M.D. 1889

16.      Charles C. Fowler, M.D. 1889

17.      John Stewart Kulp (1866-1910), M.D. 1889

18.      Alfred Stengel (1868-1939), M.D. 1889

19.      Clarence Arthur Butler (1865-?), M.D. 1889

20.      Joseph Price Tunis (1866-?), M.D. 1889

21.      Frank Royer Keefer (1865-?), M.D. 1889

22.      Nathan M. Baker (1859-1928), M.D. 1889

23.      George S. Woodward, M.D. 1891

24.      John W. Thomas, M.D., fourth year medical matriculant in 1889

25.      Arthur Horton Cleveland (1865-?), M.D. 1889

26.      Herbert Bancroft Carpenter (1866-?), M.D. 1889

27.      George Daniel Cross (1852-1903), M.D. 1889

28.      William Henry Furness III (1866-1920), M.D. 1891

29.      Walter R. Lincoln, M.D. 1890

30.      Howard S. Anders, M.D. 1890

31.      Oscar M. Richards, M.D. 1890

32.      Minford Levis, Medical Class of 1890

 

ในภาพวาดมีภาพของ Eakins ด้วยอยู่ในท่าเงี่ยหูฟังการกระซิบจากนายแพทย์ Frederick H. Milliken โดยภาพตัว Eakins วาดโดย Susan Hannah Macdowell Eakins (1851–1938) ภรรยาของเขานั่นเองซึ่งเป็นจิตรกรด้วยเช่นกัน

Agnew เสียชีวิตที่ฟิลาเดลเฟียเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1892 โดยศพได้รับการฝังที่สุสาน West Laurel Hill

เดิมภาพ “The Agnew Clinic” แขวนอยู่ที่ทางเดิน Hamilton ตึก John Morgan มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย  แต่เกิดเหตุไอน้ำรั่วที่ตึกนี้ในปี ค.ศ. 2000 ส่งผลให้ภาพวาดเสียหายจนต้องนำออกมาซ่อมแซม  ปัจจุบันภาพถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย

 

เอกสารอ้างอิง

                Schatzi SC. Medicine in American Art – The Agnew Clinic. Am J Roentgenol 1993;160:936.

                http://www.archives.upenn.edu/histy/features/1800s/1889med/agnewclinic.html

http://www.archives.upenn.edu/people/1800s/agnew_d_hayes.html

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

MMM(216) Father of forensic medicine in Thailand


ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน (พ.ศ. 2455-2513)

 

                เกิดในปี พ.ศ. 2455

                พ.ศ. 2477 จบแพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)

                หลังจบการศึกษาไปเป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาอยู่หนึ่งปีก่อนจะลาออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมตำรวจ (แผนกแพทย์กองกลาง) ได้รับพระราชทานยศร้อยตำรวจเอก

                พ.ศ. 2481 ได้รับทุนจากมูลนิธิอะเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลดท์ (Alexander von Humboldt) ไปศึกษาต่อที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจนจบปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Dr. med.) จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์กในปี พ.ศ. 2483  จากนั้นได้ฝึกอบรมและดูงานด้านนิติเวชศาสตร์ (Forensic medicine) ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินอีกระยะหนึ่งก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

คำว่า Forensic medicine มาจากภาษาละติน “forensis” ที่แปลว่า “ที่ตกลงข้อพิพาททางกฎหมาย” กับคำว่า “medicine” ที่แปลว่า “การแพทย์” มีสอนนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนราชแพทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2456  เข้าใจว่าพระยาดำรงแพทยาคุณ [ชื่น พุทธิแพทย์ (พ.ศ. 2424-2496)] เป็นอาจารย์สอนท่านแรกและเป็นผู้บัญญัติศัพท์เรียกวิชานี้ว่า “นิติเวชวิทยา”  แต่จากความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ (Rockefeller foundation) ในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแพทย์ให้ได้มาตรฐานชั้นปริญญาในปี พ.ศ. 2464 วิชานี้ไม่ปรากฎอยู่ในหลักสูตร (แต่มีหลักฐานว่าพระยาดำรงแพทยาคุณยังคงสอนวิชานี้จนถึงปี พ.ศ. 2470)

                เมื่อนายแพทย์สงกรานต์กลับเมืองไทยได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์โทในแผนกวิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลในปี พ.ศ. 2484 โดยได้รับมอบหมายให้สอนในสาขาวิชาปาราสิตวิทยา  ขณะเดียวกันอาจารย์ได้พยายามชักจูงให้คณะฯเห็นความสำคัญของวิชานิติเวชวิทยาจนในที่สุดปี พ.ศ. 2487 ก็ได้รับอนุญาตให้สอนวิชานี้แก่นักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4 สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ในภาคเรียนที่ 3 (แต่เป็นการเรียนนอกหลักสูตรจึงไม่มีการสอบ) นับได้ว่าเป็นแพทย์ปริญญารุ่นแรกที่ได้เรียนนิติเวชวิทยา 

                ในรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2440-2507) ได้ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 และโอนคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นคณะหนึ่งในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งนี้

                มิถุนายน พ.ศ. 2489 เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยคือกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  เมื่อมีการตั้งกรรมการแพทย์ชันสูตรพระบรมศพ  อาจารย์สงกรานต์เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรวมถึงนายแพทย์สุด แสงวิเชียร หัวหน้าแผนกวิชากายวิภาคศาสตร์  เพื่อพิสูจน์ให้กระจ่างชัดอาจารย์สงกรานต์เป็นผู้เสนอแผนการทดลองยิงศพต่อคณะกรรมการฯและได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองตามข้อเสนอ  นับเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสนับสนุนงานทางนิติเวชวิทยาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (ปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ตรวจพระบรมศพยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

                จากผลงานดังกล่าวคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลเห็นความสำคัญของวิชานิติเวชวิทยาขึ้นมาบ้างจึงให้มีการสอบไล่วิชานี้ในปีการศึกษา 2489 แต่ไม่ได้นำคะแนนไปรวมในการสอบเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต  ต่อมามีการสอนวิชานี้ให้กับนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4 ในภาคเรียนสุดท้ายเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงและมีการสอบไล่โดยนำคะแนนไปรวมกับวิชารังสีวิทยา  เมื่อมีการตั้งสาขาวิชานิติเวชวิทยาขึ้นมาในการสอบไล่ถือว่าวิชานี้เป็นวิชาย่อยหนึ่งเช่นเดียวกับจักษุวิทยาและรังสีวิทยาโดยถ้าสอบตกในวิชาย่อยเหล่านี้สองวิชามีผลเท่ากับตกวิชาใหญ่หนึ่งวิชา

                นอกจากนี้อาจารย์สงกรานต์ยังได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษาอื่นด้วยโดยเริ่มไปสอนนักเรียนนายร้อยตำรวจในปี พ.ศ. 2493 โรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจในปี พ.ศ. 2495 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2498 อบรมพนักงานอัยการและผู้ช่วยผู้พิพากษาในปี พ.ศ. 2499 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2500 และยังได้รับเชิญไปสอนที่สถาบันต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนวาระสุดท้ายของชีวิต (เนื่องจากงานด้านนิติเวชวิทยามากขึ้นอาจารย์จึงเลิกสอนวิชาปาราสิตวิทยาในปี พ.ศ. 2494)

                เนื่องจากงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาจารย์จึงไปสมัครเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2495  ปีเดียวกันนี้เองกรมตำรวจได้ก่อตั้งโรงพยาบาลตำรวจขึ้นอาจารย์จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชวิทยา

                ขณะนั้นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยคดีและศพเป็นประจำคือโรงพยาบาลกลาง  โรงพยาบาลศิริราชไม่รับผู้ป่วยคดีไว้รักษาพยาบาล  ผู้ป่วยที่ตายจึงไม่ใช่ศพคดีที่ต้องชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2495 อาจารย์สงกรานต์จึงทำบันทึกถึงหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาเสนอให้โรงพยาบาลศิริราชรับศพที่มีคดี  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2495 นายแพทย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชในขณะนั้นจึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจแจ้งว่าทางโรงพยาบาลยินดีช่วยเหลืองานชันสูตรพลิกศพ  ในระยะแรกพนักงานสอบสวนยังส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลศิริราชเพียงเล็กน้อย  อาจารย์สงกรานต์จึงทำบันทึกขอความช่วยเหลือไปถึงผู้บังคับการโรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจซึ่งอาจารย์ได้รับเชิญให้ไปสอนอยู่  จากนั้นมาโรงพยาบาลศิริราชก็ได้รับศพมาชันสูตรเพิ่มขึ้นทุกปี

                ต้นปี พ.ศ. 2496 แผนกวิชาพยาธิวิทยารับแพทย์ประจำบ้านสาขานิติเวชวิทยา 1 คน  ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2496 คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลได้ออกระเบียบการรับชันสูตรผู้ป่วยคดีจึงนับได้ว่าเป็นการให้บริการด้านนิติเวชวิทยาโดยสมบูรณ์ 

                พ.ศ. 2499 อาจารย์ทำหนังสือถึงคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะให้พิจารณางานด้านนิติเวชวิทยาเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง  ต่อมา พ.ศ. 2500 คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะมีมติให้นิติเวชวิทยาเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่งและแต่งตั้งให้อาจารย์เป็นหนึ่งในอนุกรรมการฯสาขานิติเวชวิทยา

                เดิมนิติเวชวิทยาเป็นเพียงหนึ่งในห้าสาขาวิชาของแผนกวิชาพยาธิวิทยา (อีกสี่สาขาวิชาคือ พยาธิวิทยา บัคเตรีวิทยา ปาราสิตวิทยา และพยาธิวิทยาคลินิก) แต่เนื่องจากงานนิติเวชวิทยาเพิ่มขึ้นทุกปีและมีจำนวนอาจารย์เพิ่มขึ้น  วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 จึงได้รับการจัดตั้งเป็นแผนกวิชานิติเวชวิทยาแห่งแรกของไทย  โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์รับตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาคนแรกได้พัฒนางานในทุก ๆ ด้านรวมถึงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นิติเวชวิทยาอีกด้วย (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน)

พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” เป็น “มหาวิทยาลัยมหิดล”  คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” และเปลี่ยนคำว่า “แผนกวิชา” เป็น “ภาควิชา” (ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 ภาควิชานิติเวชวิทยาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ภาควิชานิติเวชศาสตร์” เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานและใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน)

ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2513  จากผลงานการบุกเบิกด้านนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยจึงสมควรได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งนิติเวชศาสตร์ของไทย (Father of forensic medicine in Thailand)

 

เอกสารอ้างอิง

                สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 9

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

MMM(215) Gram stain


Hans Christian Joachim Gram (1853-1938)

 

เกิดวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1853 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

เป็นบุตรคนโตสุดในบรรดา 7 คนของศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ Frederik Terkel Julius Gram (1816-1871) กับ Louise Christiane Roulund

เขาเรียนที่วิทยาลัย Regansen ก่อนจะจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจากโรงเรียนนครบาลโคเปนเฮเกน (Copenhagen Metropolitan School) ในปี ค.ศ. 1871 (บิดาเสียชีวิตพอดี) จากนั้นเป็นผู้ช่วยด้านพฤกษศาสตร์ของ Johannes Japetus Smith Steenstrup (1813-1897) นักสัตววิทยาชาวเดนมาร์ก  ความสนใจเกี่ยวกับพืชทำให้เขาได้รู้จักเภสัชวิทยาและการใช้กล้องจุลทรรศน์

ค.ศ. 1878 เขาจบแพทย์จากมหาวิทยาลัยแห่งโคเปนเฮเกน

ค.ศ. 1878 - 1883 เป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลเทศบาลแห่งโคเปนเฮเกนโดยวิทยานิพนธ์ของเขาชื่อ “On the size of red blood corpuscles in man (ขนาดของเม็ดเลือดแดงในมนุษย์)” ได้รับรางวัลเหรียญทองของมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 1883

เมษายน ค.ศ. 1883 เขาเข้าเรียนหลักสูตรแบคทีเรียวิทยาทางการแพทย์ที่กรุงโคเปนเฮเกนซึ่งจัดโดยศาสตราจารย์ Carl Julius Salomonsen (1847-1924) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งแบคทีเรียวิทยาของเดนมาร์ก

ค.ศ. 1883 – 1885 เขาเดินทางไปศึกษาด้านเภสัชวิทยาและแบคทีเรียวิทยาที่ Strassburg, Marbug และกรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1884 ขณะศึกษาหลังปริญญากับ Carl Friedlander (1847-1887) ศาสตราจารย์ด้านแบคทีเรียวิทยาชาวเยอรมันที่กรุงเบอร์ลิน  ขณะศึกษาเนื้อเยื่อปอดของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากปอดอักเสบที่ย้อมด้วย methyl violet อยู่ Gram บังเอิญทำสารละลาย Lugol รั่วใส่ชิ้นเนื้อ 20 ตัวอย่าง  เมื่อใช้แอลกอฮอล์ล้างเขาต้องประหลาดใจเพราะชิ้นเนื้อเปลี่ยนสีไปถึง 19 ตัวอย่าง  เขาได้ค้นพบเทคนิคการย้อมสีแบคทีเรียโดยบังเอิญนั่นเองซึ่งกลายมาเป็นหัตถการพื้นฐานด้านจุลชีววิทยาการแพทย์ที่เรียกว่า Gram stain  การย้อมขั้นแรกต้องทำให้ของเหลวที่ป้ายบนแผ่นแก้วแห้งด้วยการเผาไฟ  จากนั้นหยดสารละลาย gential violet ซึ่งมีสีม่วงลงไป  หลังจากล้างน้ำก็หยดสารละลาย Lugol เพื่อให้สีติดแน่นก่อนจะล้างแผ่นแก้วด้วยแอลกอฮอล์  แบคทีเรียที่ย้อมติดสีม่วงเรียกว่า “แกรมบวก (Gram positive)” ส่วนแบคทีเรียที่ย้อมไม่ติดสีเรียกว่า “แกรมลบ (Gram negative)”  เขาตีพิมพ์ผลงานนี้เป็นบทความชื่อ “Uber die isolierte Farbung der Schizomyceten in Schnitt- und Trockenpraparaten (The differential staining of Schizomycetes in sections and in smear preparations)” ในวารสาร Fortschritte der Medizin ซึ่ง Friedlander เป็นบรรณาธิการอยู่

เขาเป็นคนถ่อมตัวสังเกตได้จากบทความที่ลงท้ายไว้ว่า “With this method it is far easier to examine the Schizomycetes, I have therefore published the method, although I am aware that as yet it is very defective and imperfect; but it is hoped that also in the hands of other investigators it will turn out to be useful.”  ไม่กี่ปีต่อมา Carl Weigert (1845-1904) ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาชาวเยอรมันที่ Senkenbergsche Stiftung ใน Frakfurt-am-Main ได้เพิ่มขั้นตอนสุดท้ายโดยการย้อมสีด้วย safranin ทำให้แบคทีเรียแกรมลบย้อมติดสีแดง

ค.ศ. 1885 เมื่อเดินทางกลับมายังโคเปนเฮเกนเขาก็ยุติงานด้านแบคทีเรียวิทยาอย่างสิ้นเชิงโดยอุทิศเวลาที่เหลือให้กับเภสัชวิทยาและอายุรศาสตร์  ค.ศ. 1886 – 1889 ได้เป็นรองศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งโคเปนเฮเกน 

ค.ศ. 1889 เขาแต่งงานกับ Louise I. C. Lohse

ค.ศ. 1891 ได้เป็นผู้บรรยายด้านเภสัชวิทยาและปลายปีนั้นเองก็ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ 

ค.ศ. 1892 เขาเป็นหัวหน้าแพทย์ด้านอายุรศาสตร์ที่โรงพยาบาล Kongelig Frederiks (ค.ศ. 1910 เปลี่ยนเป็น Rigshopitalet) 

ค.ศ. 1900 ภรรยาของเขาเสียชีวิต  ปีนี้เองเขาลาออกจากตำแหน่งด้านเภสัชวิทยาเพื่อไปทุ่มเทให้กับงานอายุรศาสตร์เพียงอย่างเดียวจนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์กระทั่งเกษียณในปี ค.ศ. 1923

ค.ศ. 1929 Thomas Hucker ปรับปรุงเทคนิคการย้อมสีแกรมอีกครั้งรู้จักกันในชื่อ Hucker modification และนิยมใช้มาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่า Gram จะเสียชีวิตไปแล้วด้วยวัย 85 ปีที่กรุงโคเปนเฮเกนในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938  แต่ปัจจุบันยังคงมีคนเรียกชื่อเขาอยู่ทุกวันทั่วโลก

 

เอกสารอ้างอิง

Casanova JM. Bacteria and their dyes: Hans Christian Joachim Gram. Historia De La Inmunologia 1992;11(4):34-44.

Gram HC. Uber die isolierte Farbung der Schizomyceten in Schnitt- und Trockenpraparaten. Fortschritte der Medizin 1884;2:185-9.

วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

MMM(214) Avery’s Diseases of the Newborn

Mary Ellen MelAvery (1927-2011)

เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1927 ที่ Camden และเติบโตที่ Moorestown รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
บิดาของเธอเป็นเจ้าของบริษัทในฟิลาเดลเฟีย ส่วนมารดาเป็น vice-principal ของโรงเรียนมัธยมปลาย
เธอได้รับแรงบันดาลใจในการเป็นกุมารแพทย์จาก Emily Partridge Bacon (1891-1972) ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ชาวอเมริกันที่ Woman’s  Medical College of Pennsylvania (WMCP) ซึ่งอยู่บ้านติดกันและเคยพาเธอไปดูทารกคลอดก่อนกำหนด
เริ่มเรียนที่ Moorestown Friends School  ต่อมาจบปริญญาตรีด้านเคมีจากวิทยาลัย Wheaton ในปี ค.ศ. 1948  สมัยนั้นโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดยังไม่รับนักศึกษาหญิงเธอจึงไปเรียนแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ในบัลติมอร์โดยเป็นผู้หญิง 1 ใน 4 คนของทั้งชั้นเรียน 90 คน และจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1952 หลังจบไม่นานก็ป่วยเป็นวัณโรคปอด ช่วงพักฟื้นที่ Trudeau Sanitarium ใน Saranac รัฐนิวยอร์กเป็นเวลานานกว่าสองปีทำให้เธอสนใจเรื่องการทำงานของปอด  หลังหายจากอาการป่วยก็ไปเที่ยวยุโรปกับเพื่อนก่อนจะกลับมาเป็นแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านที่จอนส์ฮอปกินส์
ค.ศ. 1957 ไปเป็น research fellowship ด้านกุมารเวชศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดในบอสตัน  ที่นี่เอง ค.ศ. 1959 เธอค้นพบว่า respiratory distress syndrome (RDS) ในทารกคลอดก่อนกำหนดเกิดจากการขาดสาร surfactant  ผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Diseases of Children  การค้นพบสาเหตุของโรคนำไปสู่การป้องกันและรักษาในเวลาต่อมา  ถือเป็นความก้าวหน้าด้านการดูแลทารกแรกเกิดที่สำคัญที่สุดในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว
ค.ศ. 1960 ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ที่จอนส์ฮอปกินส์และเป็นหัวหน้าแพทย์หน่วยทารกแรกเกิด ไม่นานก็ได้ตำแหน่ง Eudowood Associate Professor of Pulmonary Disease of Children  ต่อมา ค.ศ. 1969 ไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าแผนกกุมารเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ในมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
กุมารแพทย์ชาวอเมริกัน Alexander J. Schaffer (19021981) ผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “neonatology/neonatologist” ได้ประพันธ์ตำรา “Diseases of the Newborn” เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1960   Avery เริ่มมาร่วมประพันธ์ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ. 1971 (ปัจจุบันตำรานี้ชื่อ “Avery’s Diseases of the Newborn” ล่าสุดเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2011)
ค.ศ. 1974 ได้รับตำแหน่ง Thomas Morgan Rotch Professor of Pediatrics ที่ฮาร์วาร์ด เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าแผนกทางคลินิกที่ฮาร์วาร์ด  ปีเดียวกันนี้เองก็เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าแพทย์ของโรงพยาบาลเด็กบอสตันและครองตำแหน่งจนถึงปี ค.ศ. 1985
ค.ศ. 1990-1991 ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน
ค.ศ. 1991 ได้รับรางวัล National Medal of Science ต่อมา ค.ศ. 2003 ได้รับตำแหน่งประธาน National Academy of Sciences
ค.ศ. 2005 ได้รับรางวัล John Howland Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของสมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน
เธอเสียชีวิตในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2011 ด้วยวัย 84 ปี
ค.ศ. 2013 American Pediatric Society (APS) ร่วมกับ Society for Pediatric Research (SPR) ก่อตั้งรางวัล Mary Ellen Avery Neonatal Research Award เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ
หมายเหตุ ตำราอีกเล่มคือ Avery’s Neonatology Pathophysiology & Management of the Newborn” นั้นตั้งตามชื่อ Gordon B. Avery (เกิด 10 ธ.ค. 1931) กุมารแพทย์ชาวเลบานอนเป็นอีกคนนะครับ

เอกสารอ้างอิง
Stark AR (2014). My Tribute to Mary Ellen Avery. Front. Pediatr. 2:50. doi: 10.3389/fped.2014.00050

http://www.nlm.nih.gov/changingthefaceofmedicine/physicians/biography_17.html

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

MMM(213) Wilde's incision

Sir William Robert Wills Wilde (1815-1876)

เกิดเดือน มีนาคม ค.ศ. 1815 ที่ Kilkeevin ในเขต Roscommon ประเทศไอร์แลนด์
เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาห้าคนของนายแพทย์ Thomas Wills Wilde กับ Amelia
เขาเริ่มเรียนที่ Royal School, Banagher และ Diocesan School, Elphin  เนื่องจากสนใจด้านศัลยศาสตร์ตั้งแต่ตามบิดาไปราวด์จึงเรียนต่อด้านศัลยศาสตร์ในปี ค.ศ. 1832
ค.ศ. 1837 จบแพทย์จากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งไอร์แลนด์  ปีนั้นเองเขาเดินทางไปแถบเมดิเตอเรเนียนกับเรือ Crusader ในฐานะศัลยแพทย์  บันทึกการเดินทางของเขาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือขนาด 2 เล่มชื่อ “Narrative of a Voyage to Madeira, Teneriffe and Along the Shores of the Mediterranean (ค.ศ. 1840)” ผลงานนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีรู้จักกันในชื่อ “Wilde’s Voyage”
ค่าจ้างจากการเดินเรือ 250 ปอนด์เป็นทุนให้เขาได้ไปศึกษาเพิ่มเติมที่ต่างประเทศโดยเริ่มในปี ค.ศ. 1839 ที่แรกคือ Royal London Ophthalmic Hospital (Moorfields) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  ก่อนจะไปที่ Allgemeines Krankenhaus ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย  จากนั้นก็ไปสาธารณรัฐเชกและท้ายสุดที่ประเทศเยอรมนีก่อนจะกลับกรุงดับลินในปี ค.ศ. 1841 เปิดคลินิกรักษาด้านตาและหูที่บ้านตัวเอง
ค.ศ. 1841 เขาได้รับหน้าที่สำรวจสำมะโนประชากรด้านการแพทย์และครองตำแหน่งนี้จนกระทั่งเสียชีวิต (ได้ทำการเก็บสถิติทุกสิบปีอีกสามครั้งคือ ค.ศ. 1851, 1861 และ 1871)
กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1844 เขาซื้อตึกที่ถนน Mark ในกรุงดับลินทำเป็นโรงพยาบาลจักษุและโสตแห่งแรกในไอร์แลนด์ชื่อ St Mark’s Hospital
ค.ศ. 1845 ได้เป็นบรรณาธิการวารสาร Dublin Quarterly Journal of Medical Science
เขามีบุตรนอกสมรสสามคนคือ Henry Wilson (1838-1877) ซึ่งต่อมาเป็นแพทย์ตามรอยบิดา [คาดว่า Wilson มาจาก Wil(de’s) son], Emily Wilde (1847-1871) และ Mary Wilde (1849-1871)
12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1851 เขาแต่งงานกับกวีและนักวิจารณ์ Jane Francesca Elgee (1821-1896) ที่โบสถ์เซนต์ปีเตอร์  ทั้งสองมีบุตรชายด้วยกันสองคนคือ William Charles Kingsbury Wilde (1852-1899) และนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียง Oscar Fingal O’Flahertie Wills Wilde (1854-1900) และบุตรสาวอีกหนึ่งคนคือ Isola Francesca Emily Wilde (1857-1867)  
ค.ศ. 1853 เขาตีพิมพ์ตำราชื่อ “Observations on Aural Surgery and the Nature and Treatment of Diseases of the Ear”  ปีนั้นเองก็ได้รับตำแหน่งศัลยแพทย์ด้านจักษุประจำสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย
เขาคิดค้น forceps สำหรับหูเรียกว่า Wilde’s snare และคิดค้นแนวผ่าตัดรักษา mastoiditis เรียกว่า Wilde’s incision
ค.ศ. 1864 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น Sir จากผลงานการสำรวจสำมะโนประชากรซึ่งได้ประโยชน์อย่างมาก  แต่แล้วชื่อเสียงก็เสื่อมลงเมื่อเขาแพ้คดีที่ผู้ป่วยชื่อ Mary Josephine Travers กล่าวหาว่าถูกเขาข่มขืนขณะสลบจากคลอโรฟอร์ม  เขาจึงย้ายออกจากกรุงดับลินไปอยู่ภาคตะวันตกของไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1864
สุขภาพของเขาแย่ลงและคงอยู่นานจนเกิดภาวะซึมเศร้า  ค.ศ. 1867 ถูกกระตุ้นจากบุตรสาว Isola เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก และ ค.ศ. 1871 ถูกกระตุ้นอีกครั้งเมื่อบุตรสาวนอกสมรสทั้งสองคนคือ Emily และ Mary เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไฟไหม้ 
ค.ศ. 1873 เขาได้รับเหรียญรางวัล Cunningham Medal จาก Royal Irish Academy
เขากลับมาเสียชีวิตที่บ้านใน Merrion-square กรุงดับลินเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1876 โดยศพได้รับการฝังที่สุสาน Mount Jerome
ค.ศ. 1897 โรงพยาบาลจักษุและโสต St Mark’s ถูกรวมกับ National Eye and Ear Infirmary (ก่อตั้งโดย Isaac Ryall ในปี ค.ศ. 1814) กลายเป็นโรงพยาบาลจักษุและโสต Royal Victoria ตั้งอยู่ที่ถนน Adelaide ในปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง
                McGeachie J. Wilde, Sir William Robert Wills (1815-1876). Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press 2004.

                Story JB. Sir Willim Robert Wills Wilde (1815-1876). Br J Ophthalmol 1918; 2(2): 65-71.

วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557

MMM(212) Auer rods

John Auer (1875-1948)

เกิดวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1875 ที่เมืองรอเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
บิดาของเขาเป็นคนผลิตเบียร์ชาวเยอรมันที่อพยพมาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ค.ศ. 1898 จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
ค.ศ. 1902 จบการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์  หลังจบก็ไปทำงานร่วมกับแพทย์ชาวอเมริกัน Samuel James Meltzer (1851-1920) ที่สถาบันวิจัยการแพทย์ร็อกเกอะเฟลเลอร์ 
ค.ศ. 1903 เขาแต่งงานกับ Clare บุตรสาวของ Meltzer
ค.ศ. 1906 ผู้ป่วยชายวัย 21 ปีเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลจอนส์ฮอปกินส์ด้วยอาการคออักเสบติดเชื้อร่วมกับเลือดกำเดาไหล  เขาตรวจเลือดผู้ป่วย Acute Myeloid Leukemia รายนี้และบรรยายถึงแท่งที่พบใน cytoplasm ของ leukemic blasts แท่งนี้จึงมีชื่อว่า Auer rods  นอกจากนี้เขายังบรรยายการอักเสบจากภูมิแพ้ต่อสาร xylene ด้วยเรียกว่า Auer's phenomena
ค.ศ. 1909 เขาร่วมกับ Meltzer พัฒนา “intra-tracheal positive pressure ventilation” ซึ่งประยุกต์ไปใช้แก้ปัญหา pneumothorax ระหว่างผ่าตัดทรวงอกแบบเปิด  ทั้งสองยังร่วมกันศึกษาผลของแมกนีเซียมต่อ tetany
หลัง Melzer เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1920 เขาก็ย้ายไปเซนต์หลุยส์โดยเป็นศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาและผู้อำนวยการภาควิชาที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์  ที่นี่เขาทำการทดลองน้อยลงแต่มุ่งความสนใจไปที่การสอนมากขึ้น
เขาสนใจด้านศิลปะมากโดยวันหยุดมักจะออกไปวาดภาพและชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะในท้องที่นั้น ๆ นอกจากนี้ยังชอบทำสวนอีกด้วย
เขาเสียชีวิตจากหลอดเลือดหัวใจตีบในปี ค.ศ. 1948

เอกสารอ้างอิง
Meltzer SJ, Auer J. Continuous respiration without respiratory movements. J Exp Med 1909;11(4):622-5.
Roth GB. John Auer 1875-1948. J Pharmacol Exp Ther 1949;95(3):285-6.