วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

MMM(181) Dock's murmur

William “Bill” Dock (1898-1990)

เกิดวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1898 ที่แอนอาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นบุตรชายของ George Dock อายุรแพทย์ผู้มีชื่อเสียง

ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเขาทำหน้าที่เป็นคนขับรถฉุกเฉินที่ประเทศฝรั่งเศส

เขาเรียนแพทย์สองปีแรกที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ซึ่งบิดาของเขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาแพทยศาสตร์อยู่ จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยแพทย์รัชในชิคาโก รัฐอิลลินอยส์และจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1923

เขาเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาล Peter Bent Brigham (ปัจจุบันคือโรงพยาบาล Brigham and Women) ในบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ก่อนที่บิดาจะส่งเขาไปเรียนกับ Karel Frederik Wenckebach (1864-1940) หทัยแพทย์ชาวดัตช์ผู้มีชื่อเสียงที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

เขาเริ่มทำงานทางวิชาการที่โรงเรียนแพทย์สแตนฟอร์ดและได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยาโดยบังเอิญในปี ค.ศ. 1936 ปีนี้เองเขาสังเกตว่าผู้ป่วยที่นอนกับเตียงนานจะเกิดภาวะแทรกซ้อนด้านลิ่มเลือดจึงแนะนำให้ early ambulation ต่อมาเขาย้ายไปอยู่ที่วิทยาลัยแพทย์คอร์เนลในนิวยอร์ก และไปเกี่ยวเก็บประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติมที่ศูนย์การแพทย์ลอสแอนเจลิสเคาน์ตีเป็นเวลาหกเดือน

จากคำแนะนำของ Alan Gregg (1890-1957) ประธานมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เขาจึงกลับไปยังนิวยอร์กโดยรับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์ของวิทยาลัยแพทย์ลองไอแลนด์ในบรุกลิน แต่ไม่นานเขาก็ลาออกจากตำแหน่งแล้วไปทำเวชปฏิบัติส่วนตัวที่ Palo Alto Clinic ที่สแตนฟอร์ด

ค.ศ. 1967 เขาร่วมกับหทัยแพทย์ชาวอเมริกัน Samuel Zoneraich (4 พ.ย. 1921 13 พ.ค. 2000) บรรยาย diastolic murmur ที่พบในผู้ป่วย left anterior descending stenosis อาการแสดงนี้เรียกว่า Dock’s murmur [Dock W, Zoneraich S. A diastolic murmur arising in a stenosed coronary artery. American Journal of Medicine 1967;42(4):617-9.]

Dock เป็นผู้นำ “กฎของ Sutton (Sutton’s law)” มาใช้ในทางการแพทย์ กฎนี้มาจากตอนที่นักข่าว Mitch Ohnstad ถาม William “Willie” Sutton (1901-1980) โจรปล้นธนาคารชาวอเมริกันว่า “ทำไมคุณถึงปล้นธนาคาร? (Why you robbed banks?)” คำตอบที่ได้รับคือ “เพราะว่าเป็นที่ที่มีเงินน่ะสิ (Because that’s where the money is.)” โดย Dock นำมาประยุกต์สอนนักศึกษาว่า “go to the patient, because that’s where the diagnosis is.”

ท้ายที่สุดเขากลับมาทำงานที่บรุกลินในหลายสถาบันโดยเกษียณในปี ค.ศ. 1979 ที่ศูนย์การแพทย์ลูเธอรัน จากนั้นก็ย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เขามีบุตรชายชื่อ Christopher และ George

Dock เสียชีวิตเมื่อ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1990 ที่เกาะแห่ง Guadeloupe ประเทศฝรั่งเศส และได้รับการยกย่องว่าเป็นยักษ์แห่งหทัยวิทยาของอเมริกา (giant of American cardiology)

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

MMM(180) Father of modern teaching anatomy in Thailand

เอ็ดการ์ เดวิดสัน คองดอน (Edgar Davidson Congdon, ค.ศ. 1879-1965)
เกิดวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1879 ที่ Newark รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นบุตรชายของ Lafayette Congdon (1845-1927) กับ Frances Anna Kingsley (1849-1931)
ค.ศ. 1909 จบปริญญาเอกด้านสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แต่งงานกับ Edith Dana Jones (1879-1930) ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1911 มีบุตรสาวด้วยกันคือ Edgar Dana Congdon (1916–1997)
ค.ศ. 1923 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเริ่มหลักสูตแพทย์ระดับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตโดยความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ปีต่อมาทางมูลนิธิมอบหมายให้ Claude Witherington Stump (18911971) นักกายวิภาคศาสตร์ชาวออสเตรเลียมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์คนแรกของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ท่านได้เริ่มจัดการเรียน 3 สาขาวิชาคือ มหกายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาคศาสตร์ และคัพภะวิทยา
คองดอนเป็นรองศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์อยู่ที่วิทยาลัยแพทย์นครปักกิ่ง (Peking Union Medical College) ได้รับเชิญมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์คนที่สองของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปี ค.ศ. 1926 ท่านจัดการศึกษากายวิภาคศาสตร์เพิ่มอีก 2 สาขา คือ ประสาทกายวิภาคศาสตร์ และ Topographic and Applied Anatomy รวมเป็น 5 สาขา
ศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร (เกิด 1 ก.ค. 1939) อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์เล่าให้ฟังว่าศาสตราจารย์คองดอนพูดภาษาไทยไม่ได้จึงต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ นักเรียนก็ฟังไม่ค่อยออก ท่านจึงใช้ 3 วิธีเข้าช่วยคือ วิธีแรกเอากระจกสไลด์มาฉาย วิธีที่สองก็รูปวาด และวิธิที่สามก็คือชำแหละให้นักเรียนดู ส่วนที่เหลือจากการชำแหละก็เก็บมาเริ่มต้นจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1927
ต่อมาในปี ค.ศ. 1930 ได้มีการประชุมเวชศาสตร์เขตร้อนครั้งที่แปดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์คองดอนร่วมด้วยอาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์และนักเรียนแพทย์ในรุ่นนั้นได้ช่วยกันชำแหละชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเริ่มมีการระบายสีหลอดเลือดและเส้นประสาท ให้เห็นเด่นชัดขึ้น ด้วยการใช้สีผสมไข่ขาว (Albuminous Paint) ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่นำออกแสดงในงานประชุมก็ได้นำมาร่วมจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ยุคแรกด้วย
ค.ศ. 1931 ศาสตราจารย์คองดอนเดินทางกลับสหรัฐฯ หลวงกายวิภาคบรรยาย (แถม ประภาสะวัต) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเป็นคนที่สามระหว่างปี ค.ศ. 1931-1938 จากนั้นก็เป็นศาสตราจารย์พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 1938-1942
ค.ศ. 1942 บิดาของอาจารย์สรรใจคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร (1907-1995) รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์คนที่ห้า หลังจากศาสตราจารย์คองดอนเดินทางกลับสหรัฐฯไปแล้วทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์ค่อย ๆ สะสมชิ้นส่วนแสดงเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งขยายส่วนจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์มาตรฐานได้ในยุคนี้เอง นอกจากนี้อาจารย์สุดยังเริ่มใช้วิธีระบายสีโดยใช้ Brush Lacquer ซึ่งสามารถเก็บตัวอย่างไว้ได้ในฟอร์มาลิน (สะดวกขึ้นเพราะไม่ระเหยง่ายแบบแอลกอฮอล์) จัดทำโหลแสดงตัวอย่างที่ทำจากพลาสติก ซึ่งสามารถออกแบบสร้างให้เหมาะสมกับขนาดของตัวอย่างที่จะแสดง แม้กระทั่งโหลใส่ร่างกายของมนุษย์ทั้งร่างก็สามารถทำจากพลาสติกได้โดยเจ้าหน้าที่ช่างไม้ในภาควิชานั่นเอง
วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1948 คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์แห่งนี้อย่างเป็นทางการ และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ศาสตราจารย์คองดอนจึงตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน (Congdon Anatomical Museum)
พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน แบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องที่หนึ่งเป็นห้องกายวิภาคศาสตร์ทั่วไป และห้องที่สองเป็นห้องแสดงกระดูก สิ่งแสดงสำคัญของห้องแรกคือ ระบบประสาททั่วร่างกาย และระบบหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสิ่งแสดงที่มีเพียงอย่างละชิ้นเดียวในโลก เป็นผลงานของรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพทาย ศิริการุณ ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านการชำแหละมาก และดูแลพิพิธภัณฑ์นี้อยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 25 ปี อาจารย์สรรใจกล่าวถึงสิ่งแสดงเอกสองชิ้นนี้ว่าผู้ที่ทำได้ต้องรู้กายวิภาคศาสตร์อย่างดี มีความเป็นศิลปิน และมีความอุตสาหะมากซึ่งอาจารย์เพทายทำวันละครึ่งคืนนาน 3 เดือนกว่าจะเสร็จ
สิ่งแสดงสำคัญของห้องกระดูกคือ โครงกระดูกของอดีตอาจารย์ศิริราช บุคคลในวงการแพทย์และการศึกษา ตัวอย่างเช่น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ซึ่งเป็นคนแรกที่บริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาลศิริราช ขุนกายวิภาคพิศาล (เสงี่ยม หุตะสังกาศ) ศ.นพ.สรรค์ ศรีเพ็ญ ศ.นพ. สุด แสงวิเชียร และรศ.พญ.เพทาย ศิริการุณ เป็นต้น
ศาสตราจารย์คองดอนเสียชีวิตวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1965 ที่ Babylon รัฐนิวยอร์ก ท่านวางรากฐานการศึกษากายวิภาคศาสตร์ของประเทศไทยจนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการสอนภายวิภาคศาสตร์ยุคใหม่ของไทย (Father of modern teaching anatomy in Thailand)
วันเกิดวันตายของคองดอนอ้างอิงจาก http://congdonfamilies.blogspot.com/2009_01_01_archive.html
ประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์อ้างอิงจาก นิตยสาร UPDATE ปีที่ 12 ฉบับที่ 137 มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

MMM(179) Grant's Atlas of Anatomy

John Charles Boileau Grant (1886-1973)

เกิดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1886 ที่ Loanhead ประเทศสกอตแลนด์

ค.ศ. 1903 เข้าเรียนแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นคือ William Boyd (1885-1979) ซึ่งต่อมาเป็นพยาธิแพทย์ผู้มีชื่อเสียง

สมัยนั้นตำรากายวิภาคศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมีสามเล่มคือ “Gray’s Anatomy” ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1858 โดย Henry Gray (1827-1861) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ เล่มที่สองคือ “Morris’s Human Anatomy” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1893 โดย Sir Henry Morris, 1st Baronet (1844–1926) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ และอีกเล่มคือ “Cunningham’s Textbook of Anatomy” ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1902 โดย Daniel John Cunningham (1850–1909) แพทย์ชาวสกอต

Grant ได้เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์กับ Cunningham เมื่อจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1908 จึงมาเป็นผู้สาธิต (demonstrator) ด้านกายวิภาคศาสตร์ภายใต้ Cunningham ระหว่างปี ค.ศ. 1909-1911 ก่อนจะไปรับตำแหน่งเดียวกันที่ประเทศอังกฤษภายใต้ Robert Howden (1856-1940) ศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่ง Durham ผู้เป็นบรรณาธิการตำรา “Gray’s Anatomy” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 17 ในปี ค.ศ. 1909

ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ. 1914 Grant อาสาสมัครเข้าร่วมในกองแพทย์ทหารบกหลวง เมื่อสิ้นสุดการระดมพลในปี ค.ศ. 1919 เขาไปรับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งแมนิโทบา ใน Winnipeg ประเทศแคนาดา ตามคำเชิญของ Alexander Gibson (1883-1956) ศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในขณะนั้น ที่ Winnipeg เขาได้พบกับ Catriona Christie และแต่งงานกันในปี ค.ศ. 1922 (เพื่อนร่วมชั้นเรียน Boyd แต่งงานกับ Enid Christie ซึ่งทั้งสองสาวเป็นพี่น้องกัน)

Grant ดำรงตำแหน่งที่แมนิโทบาถึงปี ค.ศ. 1930 จากนั้นไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้ากายวิภาคศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโต ประเทศแคนาดาต่อจาก James Playfair McMurrich (1859–1939) นักสัตววิทยาชาวแคนาดาผู้เป็นบรรณาธิการร่วมของตำรา “Morris’s Human Anatomy” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ. 1907

จากประสบการณ์ที่ได้อยู่ท่ามกลางบรรณาธิการตำรากายวิภาคศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทำให้ Grant ใฝ่ฝันที่จะประพันธ์ตำราของตัวเองจนผลิตออกมาถึงสามเล่ม (Grant trilogy) ด้วยกันคือ

ค.ศ. 1937 เขาตีพิมพ์ตำรา “Method of Anatomy, Descriptive and Deductive” เป็นครั้งแรก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “Grant’s Method of Anatomy” โดยฉบับพิมพ์ครั้งที่ 11 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1989

ค.ศ. 1940 เขาร่วมกับ Cates ตีพิมพ์ตำรา “Handbook for Dissectors” เป็นครั้งแรก ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “Grant’s Dissector” โดยล่าสุดฉบับพิมพ์ครั้งที่ 14 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2008

ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเขาสมัครเข้าร่วมสงคราม (อีกแล้ว) แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากอายุอานามปาเข้าไปมากกว่า 50 ปีแล้ว เขาจึงหันมาทำตำราเล่มที่สามซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ “Atlas of Anatomy” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1943 ปัจจุบันใช้ชื่อว่า “Grant’s Atlas of Anatomy” โดยล่าสุดฉบับพิมพ์ครั้งที่ 12 ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2008 พร้อม ‘Grant’s Dissector” (ในปีเดียวกันนี้เอง “Gray’s Anatomy” ก็ฉลองครบรอบ 150 ปีด้วยการตีพิมพ์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 40)

ภาพในตำราดังกล่าววาดจาก specimen ที่ทำขึ้นโดย Grant และลูกศิษย์ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์ J. C. B. Grant ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโต เขามองว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ควรเป็นเพียงสถานที่จัดแสดง specimen แต่ควรเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ด้วย specimen จึงจัดวางให้สามารถหมุนดูได้รอบทิศทางและมีเก้าอี้กับโต๊ะให้นั่งอ่านตำราพร้อมจดบันทึกได้ ดังที่ Grant กล่าวไว้ว่า “Thus, the student, seated and with text-book or notes beside him, could study in comfort”

Grant เสนอให้ผู้สาธิตด้านกายวิภาคศาสตร์สวมเสื้อห้องปฏิบัติการสีขาวที่มีปกสีน้ำเงินเพื่อให้มองเห็นได้ง่ายจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโตจนเกษียณในตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณเมื่อปี ค.ศ. 1956 หลังเกษียณก็รับตำแหน่งผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

ค.ศ. 1961 แม้จะอายุ 75 ปีแล้วเขาก็ยังตอบรับคำเชิญไปเป็น Visiting professor ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ลอสแอนเจลิส (UCLA) โดยสอนกายวิภาคศาสตร์ 6 เดือนต่อปีจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1970

Grant เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1973 ที่โทรอนโต ส่วนภรรยาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1982 และยกมรดกตำรากายวิภาคศาสตร์ของ Grant ให้กับโรงพยาบาล Princess Margaret ที่โทรอนโต

ค.ศ. 1998 สำนักพิมพ์ Williams and Wilkins ที่ตีพิมพ์ตำรา “Grant’s Atlas of Anatomy” บริจาคเพลตต้นฉบับภาพวาดที่ใช้ในการตีพิมพ์แก่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโต ปัจจุบันเพลตถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุของหน่วย Biomedical Communications

Grant ได้รับการยกย่องว่าเป็นอาจารย์สอนกายวิภาคศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดในศตวรรษที่ 20 (most outstanding teachers of anatomy in the 20th century)