เอ็ดการ์ เดวิดสัน คองดอน (Edgar Davidson Congdon, ค.ศ. 1879-1965)
เกิดวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1879 ที่ Newark รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นบุตรชายของ Lafayette Congdon (1845-1927) กับ Frances Anna Kingsley (1849-1931)
ค.ศ. 1909 จบปริญญาเอกด้านสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แต่งงานกับ Edith Dana Jones (1879-1930) ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1911 มีบุตรสาวด้วยกันคือ Edgar Dana Congdon (1916–1997)
ค.ศ. 1923 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเริ่มหลักสูตแพทย์ระดับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตโดยความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ปีต่อมาทางมูลนิธิมอบหมายให้ Claude Witherington Stump (1891–1971) นักกายวิภาคศาสตร์ชาวออสเตรเลียมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์คนแรกของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ท่านได้เริ่มจัดการเรียน 3 สาขาวิชาคือ มหกายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาคศาสตร์ และคัพภะวิทยา
คองดอนเป็นรองศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์อยู่ที่วิทยาลัยแพทย์นครปักกิ่ง (Peking Union Medical College) ได้รับเชิญมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์คนที่สองของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปี ค.ศ. 1926 ท่านจัดการศึกษากายวิภาคศาสตร์เพิ่มอีก 2 สาขา คือ ประสาทกายวิภาคศาสตร์ และ Topographic and Applied Anatomy รวมเป็น 5 สาขา
ศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร (เกิด 1 ก.ค. 1939) อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์เล่าให้ฟังว่าศาสตราจารย์คองดอนพูดภาษาไทยไม่ได้จึงต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ นักเรียนก็ฟังไม่ค่อยออก ท่านจึงใช้ 3 วิธีเข้าช่วยคือ วิธีแรกเอากระจกสไลด์มาฉาย วิธีที่สองก็รูปวาด และวิธิที่สามก็คือชำแหละให้นักเรียนดู ส่วนที่เหลือจากการชำแหละก็เก็บมาเริ่มต้นจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1927
ต่อมาในปี ค.ศ. 1930 ได้มีการประชุมเวชศาสตร์เขตร้อนครั้งที่แปดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์คองดอนร่วมด้วยอาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์และนักเรียนแพทย์ในรุ่นนั้นได้ช่วยกันชำแหละชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเริ่มมีการระบายสีหลอดเลือดและเส้นประสาท ให้เห็นเด่นชัดขึ้น ด้วยการใช้สีผสมไข่ขาว (Albuminous Paint) ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่นำออกแสดงในงานประชุมก็ได้นำมาร่วมจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ยุคแรกด้วย
ค.ศ. 1931 ศาสตราจารย์คองดอนเดินทางกลับสหรัฐฯ หลวงกายวิภาคบรรยาย (แถม ประภาสะวัต) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเป็นคนที่สามระหว่างปี ค.ศ. 1931-1938 จากนั้นก็เป็นศาสตราจารย์พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 1938-1942
ค.ศ. 1942 บิดาของอาจารย์สรรใจคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร (1907-1995) รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์คนที่ห้า หลังจากศาสตราจารย์คองดอนเดินทางกลับสหรัฐฯไปแล้วทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์ค่อย ๆ สะสมชิ้นส่วนแสดงเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งขยายส่วนจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์มาตรฐานได้ในยุคนี้เอง นอกจากนี้อาจารย์สุดยังเริ่มใช้วิธีระบายสีโดยใช้ Brush Lacquer ซึ่งสามารถเก็บตัวอย่างไว้ได้ในฟอร์มาลิน (สะดวกขึ้นเพราะไม่ระเหยง่ายแบบแอลกอฮอล์) จัดทำโหลแสดงตัวอย่างที่ทำจากพลาสติก ซึ่งสามารถออกแบบสร้างให้เหมาะสมกับขนาดของตัวอย่างที่จะแสดง แม้กระทั่งโหลใส่ร่างกายของมนุษย์ทั้งร่างก็สามารถทำจากพลาสติกได้โดยเจ้าหน้าที่ช่างไม้ในภาควิชานั่นเอง
วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1948 คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์แห่งนี้อย่างเป็นทางการ และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ศาสตราจารย์คองดอนจึงตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า “พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน (Congdon Anatomical Museum)”
พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน แบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องที่หนึ่งเป็นห้องกายวิภาคศาสตร์ทั่วไป และห้องที่สองเป็นห้องแสดงกระดูก สิ่งแสดงสำคัญของห้องแรกคือ ระบบประสาททั่วร่างกาย และระบบหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสิ่งแสดงที่มีเพียงอย่างละชิ้นเดียวในโลก เป็นผลงานของรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพทาย ศิริการุณ ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านการชำแหละมาก และดูแลพิพิธภัณฑ์นี้อยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 25 ปี อาจารย์สรรใจกล่าวถึงสิ่งแสดงเอกสองชิ้นนี้ว่าผู้ที่ทำได้ต้องรู้กายวิภาคศาสตร์อย่างดี มีความเป็นศิลปิน และมีความอุตสาหะมากซึ่งอาจารย์เพทายทำวันละครึ่งคืนนาน 3 เดือนกว่าจะเสร็จ
สิ่งแสดงสำคัญของห้องกระดูกคือ โครงกระดูกของอดีตอาจารย์ศิริราช บุคคลในวงการแพทย์และการศึกษา ตัวอย่างเช่น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ซึ่งเป็นคนแรกที่บริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาลศิริราช ขุนกายวิภาคพิศาล (เสงี่ยม หุตะสังกาศ) ศ.นพ.สรรค์ ศรีเพ็ญ ศ.นพ. สุด แสงวิเชียร และรศ.พญ.เพทาย ศิริการุณ เป็นต้น
ศาสตราจารย์คองดอนเสียชีวิตวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1965 ที่ Babylon รัฐนิวยอร์ก ท่านวางรากฐานการศึกษากายวิภาคศาสตร์ของประเทศไทยจนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการสอนภายวิภาคศาสตร์ยุคใหม่ของไทย (Father of modern teaching anatomy in Thailand)
วันเกิดวันตายของคองดอนอ้างอิงจาก http://congdonfamilies.blogspot.com/2009_01_01_archive.html
ประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์อ้างอิงจาก นิตยสาร UPDATE ปีที่ 12 ฉบับที่ 137 มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541
2 ความคิดเห็น:
Thank you for posting about my Great Grandfather.
It's my pleasure.
แสดงความคิดเห็น