วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

MMM(159) Father of humanistic psychology

 

Abraham “Abe” Harold Maslow (1908-1970)
 
เกิดวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1908 ที่บรุกลิน นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เขาเป็นบุตรคนแรกในบรรดาเจ็ดคนของชาวยิวผู้ไร้การศึกษาที่ย้ายมาจากส่วนหนึ่งของอาณาจักรรัสเซีย (ปัจจุบันคือเคียฟ ประเทศยูเครน)
วัยเด็กเขาเป็นคนเชื่องช้า เรียบร้อย ตัวคนเดียวและไม่มีความสุขเพราะเป็นเด็กชายชาวยิวท่ามกลางเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่ยิว
 ตอนแรกเขาเรียนด้านกฎหมายตามความต้องการของผู้ปกครองที่ City College of New York (CCNY)  เรียนได้สามภาคเรียนก็ย้ายไปคอร์เนลล์และกลับมายัง CCNY  เขาแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้อง Bertha Goodman ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1928 โดยผู้ปกครองไม่เห็นด้วย
เขากับภรรยาย้ายไปยังวิสคอนซินและเข้าเรียนจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิน  อาจารย์ที่ปรึกษาของเขาคือ Harry Frederick Harlow (1905–1981) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน
เขาจบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซินในปี ค.ศ. 1930 ปริญญาโทในปี ค.ศ. 1931 และปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1934
หนึ่งปีหลังจบการศึกษาเขากลับไปยังนิวยอร์กและทำงานกับ Edward Lee Thorndike (1874-1949) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
เขาเริ่มงานสอนที่วิทยาลัยบรุกลินช่วงนี้ได้พบกับบุคคลสำคัญมากมายอาทิ Alfred Adler (1870–1937) แพทย์ชาวออสเตรียผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตวิทยาบุคคล (School of individual psychology), Ruth Benedict (1887–1948) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันและ Max Wertheimer (1880–1943) นักจิตวิทยาชาวเชคหนึ่งในผู้ก่อตั้งวิชาจิตวิทยาเกสตัลท์ (Gestalt psychology)
Kurt Goldstein (1878–1965) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทชาวเยอรมันเสนอแนวคิดเรื่องการสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ขั้นสูง (self-actualization) ในหนังสือภาษาเยอรมัน “Der Aufbau des Organismus เมื่อปี ค.ศ. 1934 เป็นแรงบันดาลใจให้ Maslow สนใจด้านจิตวิทยามนุษยนิยม (humanistic psychology) ซึ่งถือเป็นแรงที่สาม (third force) นอกเหนือจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) และพฤติกรรมนิยม (behaviorism)
Maslow นำเสนอลำดับชั้นของความต้องการของมนุษย์ที่รู้จักกันในชื่อ "Maslow’s hierarchy of human needs" เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1943  เริ่มจากขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุดคือความต้องการทางร่างกาย (physiological)  ขั้นที่ 2 คือความต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต (safety)  ขั้นที่ 3 คือความต้องการความรักความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและชุมชน (belonging)  ขั้นที่ 4 คือความต้องการการยอมรับนับถือ (esteem) และขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดคือ การสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ขั้นสูง (self-actualization) นั่นเอง
ค.ศ. 1951-1969 เขาเป็นหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาและเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Brandeis

เขาเสียชีวิตจากหัวใจวายที่ Menlo Park ในแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1970 และได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยามนุษยนิยม (Father of humanistic psychology)

 

 เอกสารอ้างอิง

                Schott RL. Abraham Maslow, humanistic psychology, and organization leadership: a Jungian perspective. J Humanist Psychol 1992;32:106-20.

                Rennie D. Two Thoughts on Abraham Maslow. J Humanist Psychol 2008;48(4):445-8.

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 


ไม่มีความคิดเห็น: