วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559

MMM(220) ครูใหญ่แห่งงานสาธารณสุขมูลฐานและบิดาแห่ง อสม.

“ครูใหญ่แห่งงานสาธารณสุขมูลฐานและบิดาแห่ง อสม.”

ดร.นพ.อมร นนทสุต (Amorn Nondasuta)


                เกิดวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1928 ที่ตำบลรองเมือง อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน)
เป็นบุตรคนสุดท้องของนาวาเอกพระแสงสิทธิการ (แสง นนทสุต) รน. กับนางประชิต นนทสุต (นามสกุลเดิมปายะนันท์)
ค.ศ. 1944 จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
                ค.ศ. 1952 จบปริญญาตรีแพทยศาสตร์บัณฑิตศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รุ่นที่ 57
                1 มิถุนายน ค.ศ. 1953 รับราชการในกรมอนามัยเป็นนายแพทย์ตรีกองอนามัยโรงเรียน  หนึ่งเดือนต่อมาก็ไปเป็นอนามัยจังหวัดแพร่ (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน) ได้สร้างต้นแบบโครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในจังหวัดแพร่และเชียงใหม่โดยใช้เกลืออนามัยจนสถิติผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจนและค่อย ๆ หมดลงไปในที่สุดในหลาย ๆ พื้นที่
                6 มีนาคม ค.ศ. 1955 สมรสกับแพทย์หญิงอนงค์ บุญยังพงศ์ ทั้งสองมีบุตรบุญธรรม 1 คนคือนายประจักรา นนทสุต
                ค.ศ. 1961 จบปริญญาโทสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
                1 ตุลาคม ค.ศ. 1963 กลับมารับตำแหน่งอนามัยจังหวัดเชียงใหม่
                3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1966 ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองโภชนาการ
                ค.ศ. 1968 อาจารย์สมบูรณ์ วัชโรทัยและอาจารย์กำธร สุวรรณกิจ ทำโครงการส่งเสริมบริการอนามัยชนบทอยู่ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกโดยจ้างคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านมาช่วยกันทำเรื่องสุขภาพในชุมชน อาจารย์ทั้งสองมีความคิดจะขยายงานไปยังจุดต่าง ๆ ของประเทศจึงมาชวนให้นพ.อมรทำ
                ท่านเริ่มโครงการนี้ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่แต่วิธีการต่างกันคือไม่ใช้การจ้างคนหนุ่มสาวมาทำ   ท่านนำเทคนิค social metric ที่ได้จากฮาร์วาร์ดมาใช้โดยเข้าไปคุยกับชาวบ้านแล้วสอบถามว่าเวลาเจ็บป่วยมักจะไปปรึกษาใคร  เมื่อทำแผนภาพออกมาจะพบว่าเป็นผู้อาวุโสหรือผู้ที่ได้รับการนับถือจากชาวบ้านกระจายไปโดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ 15 หลังคาเรือนจะมีหนึ่งคน  ท่านจะให้ความรู้แก่บุคคลเหล่านี้เพื่อนำไปกระจายต่อในชุมชนเรียกว่าเป็น “ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.)” เมื่อทำไปสักระยะเห็นว่าชาวบ้านมีความสามารถในการรักษาพยาบาลได้ด้วยจึงสอนวิชาการรักษาเบื้องต้นเพิ่มเติมให้และยกฐานะเป็น “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)”  ที่ไม่ใช้เงินจ้างแต่ให้เป็นอาสาสมัครแทนเพราะอยากให้ภูมิใจในสิ่งทำโครงการจะได้ยั่งยืน
                21 ตุลาคม ค.ศ. 1970 ได้รับตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่กรมอนามัย
1 ตุลาคม ค.ศ. 1973 เป็นรองอธิบดีส่งเสริมสาธารณสุข (กรมอนามัย)
1 ตุลาคม ค.ศ. 1974 เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
                ค.ศ. 1977 หลังได้รับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 (ค.ศ. 1977-1981) จึงนำเรื่อง ผสส. อสม. บรรจุเข้าไปด้วยรวมถึงงานสาธารณสุขมูลฐานด้วย ปีต่อมา ค.ศ. 1978 แพทย์ชาวเดนมาร์ก Halfdan T. Mahler (เกิด 21 เมษายน ค.ศ. 1923) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 1973-1988) ประกาศนโยบาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for all)” พอดีซึ่งใช้หลักของสาธารณสุขมูลฐานให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตัวเอง  ประเทศไทยก็เริ่มงานสาธารณสุขมูลฐานอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา แต่การผลักดันเรื่องสุขภาพดีถ้วนหน้าพบว่ามีอุปสรรคเนื่องจากชาวบ้านไม่สนใจเรื่องสุขภาพเท่าไหร่ จึงเปลี่ยนนโยบายเป็น “คุณภาพชีวิตดีถ้วนหน้า (Quality of life for all)” แทนแล้วแทรกเรื่องสุขภาพลงไปโครงการจึงเป็นผลสำเร็จ
                1 ตุลาคม ค.ศ. 1980 เป็นอธิบดีกรมอนามัย ท่านเป็นผู้นำสาธารณสุขมูลฐานเข้ามาใส่ในงานของกองโภชนาการ
                1 ตุลาคม ค.ศ. 1983 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ท่านสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอและสร้างสถานีอนามัยตำบลทุกตำบล  นอกจากนี้ยังผลักดันเป้าหมายความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เป็นเครื่องชี้วัดสถานภาพและความสำเร็จของการพัฒนาในแผนการส่งเสริมสุขภาพ
                ค.ศ. 1986 ได้รับปริญญาสาธารณสุขศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
                1 มกราคม ค.ศ. 1987 ลาออกจากราชการด้วยเหตุรับราชการนาน
                แนวคิดที่ท่านยึดถือในการทำงานเสมอคือ ต้องเชื่อว่าชาวบ้านเขาทำได้ อันนี้สำคัญมาก อย่าดูถูกเขาเป็นอันขาด อย่าไปนึกว่าเราใหญ่กว่าเขา เรามีความรู้เยอะแยะอะไรแบบนี้จะไปไม่รอด ถ้าทำงานกับสังคมอย่าไปถือว่าตัวเองเหนือกว่า ชาวบ้านเขาก็เป็นครูเราได้" ปัจจุบันอาจารย์ยังทำงานต่อเนื่องในแวดวงสาธารณสุขโดยทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสนับสนุนและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น  ผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือการผลักดันการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์ในงานสาธารณสุขนั่นเอง

คำประกาศเกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ 
ค.ศ. 1982 รางวัล “สมเด็จพระวัณรัตปุณณสิริจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย 
ค.ศ. 1986 รางวัล Sasakawa Health Prize ขององค์การอนามัยโลก จากผลงานสาธารณสุขมูลฐาน (เป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้)  และได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณข้าราชการดีเด่น จากสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย 
ค.ศ. 1992 รางวัลเหรียญทอง Ceres ขององค์การอาหารและเกษตร จากผลงานควบคุมโรคคอพอก   และได้รับโล่บุคคลดีเด่นด้านสาธารณสุข จากกระทรวงสาธารณสุขเนื่องในโอกาสวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข 50 ปี
ค.ศ. 2005 รางวัลนักสุขศึกษาดีเด่นกิตติมศักดิ์
ค.ศ. 2012 รางวัลนักบริหารโรงพยาบาล  
กระทรวงสาธารณสุขสมัยที่ดร.นพ.อมร นนทสุต ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงได้มีนวัตกรรมงานสาธารณสุขเกิดขึ้นมากมายจนได้ชื่อว่าเป็น ยุคทองของวงการสาธารณสุขไทย

เอกสารอ้างอิง
พงศธร พอกเพิ่มดี. หลังประติมาสาธารณสุข 20 เบื้องหลังการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน); 2553. หน้า 61-70.
วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย 2555; 2(3): 213-4.
สันติสุข โสภณสิริ. 80 ปี นายแพทย์อมร นนทสุต เพชรจรัสแสงแห่งวงการสาธารณสุขไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2552.

                

ไม่มีความคิดเห็น: