วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

MMM(163) Discoverer of phagocytosis

Ilya Ilyich Mechnikov (ต่อมาใช้ชื่อว่า Elie Metchnikoff) (1845-1916)


เกิดวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1845 ที่หมู่บ้านใกล้ Kharkov อาณาจักรรัสเซีย

เป็นบุตรชายคนเล็กสุดของ Ilya Mechnikov เจ้าหน้าที่องครักษ์ผู้เป็นเจ้าของที่ในที่ราบกว้างใหญ่ของยูเครน ส่วนมารดา Emilia เป็นชาวยิวมาจากตระกูล Nevakhowitch

เขาเรียนที่ Kharkov และสนใจในประวัติศาสตร์ธรรมชาติมาตั้งแต่ยังเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาพฤกษศาสตร์และธรณีวิทยา

เขาเข้าเรียนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยแห่ง Kharkov โดยขยันมากจนเรียนจบภายใน 2 ปีจากหลักสูตรจริง ๆ 4 ปี หลังจบก็ไปศึกษาสัตว์ทะเลที่เกาะแห่ง Heligoland ประเทศเยอรมนี จากนั้นก็ไปทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่ง Giessen ภายใต้ Leuckart ต่อมาไปที่มหาวิทยาลัยแห่ง Göttingen และทำงานที่ห้องปฏิบัติการของ von Siebold ใน Munich Academy ที่ Giessen ค.ศ. 1865 เขาสังเกตเห็นกระบวนการย่อยภายในเซลล์ของหนอนพยาธิตัวแบนซึ่งนำมาสู่การค้นพบสำคัญในเวลาต่อมา

ค.ศ. 1867 เขากลับมายังรัสเซียโดยรับตำแหน่ง docent ที่มหาวิทยาลัยแห่ง Odessa (ปัจจุบันอยู่ในยูเครน) จากนั้นก็ไปรับตำแหน่งเดียวกันที่มหาวิทยาลัยแห่ง St. Petersburg ก่อนจะกลับมารับตำแหน่ง Titular Professor ด้านสัตววิทยาและกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยแห่ง Odessa ในปี ค.ศ. 1870

ที่ St. Petersburg เขาได้พบกับภรรยาคนแรกคือ Ludmilla Feodorovitch เธอป่วยหนักจากวัณโรคจนต้องนั่งรถเข็นมาทำพิธีแต่งงานที่โบสถ์ เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตของเธอไว้แต่ในที่สุดเธอก็เสียชีวิตในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1873 การเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายประกอบกับมีปัญหาในการทำงานจึงพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินฝิ่นปริมาณมาก โชคดีที่ไม่เสียชีวิตและที่ Odessa นั้นเองเขาได้พบกับภรรยาคนที่สองคือ Olga Belokopytova ทั้งสองแต่งงานกันในปี ค.ศ. 1875

ค.ศ. 1880 Olga ป่วยหนักจากไข้ไทฟอยด์ Mechnikov คิดจะฆ่าตัวตายอีกครั้งแต่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นจึงใช้วิธีเอาตัวเองเป็นหนูทดลองเพื่อพิสูจน์ว่า relapsing fever ติดต่อทางเลือดหรือไม่ เขาป่วยหนักจาก relapsing fever แต่ก็ไม่ตายอยู่ดี หลังจากฟื้นตัวในปี ค.ศ. 1882 ก็ขอลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากสร้างความลำบากให้กับมหาวิทยาลัย

เขาไปตั้งห้องปฏิบัติการส่วนตัวที่ Messina ศึกษาด้านคัพภวิทยาเปรียบเทียบ วันหนึ่งขณะคนอื่นในครอบครัวออกไปดูละครสัตว์กันเหลือเขาอยู่ที่ห้องปฏิบัติการคนเดียว จากการศึกษาตัวอ่อนของปลาดาวเขาเห็นเซลล์ที่เคลื่อนไหวได้จึงสงสัยว่ามันทำหน้าที่ป้องกันตัวเองจากสิ่งแปลกปลอมหรือเปล่า เพื่อทดสอบสมมติฐานเขานำหนามต้นส้มเขียวหวานที่เตรียมไว้ทำต้นคริสมาสต์ให้แก่ลูก ๆ ใส่เข้าไป เช้าวันรุ่งขึ้นปรากฎว่าเซลล์ที่เคลื่อนไหวได้นั้นไปอยู่ล้อมรอบหนามดังกล่าว เขารู้ทันทีว่าสัตว์ที่มีระบบไหลเวียนเลือดเมื่อรับเชื้อโรคเข้าไปเม็ดเลือดขาวจะออกมาจากหลอดเลือดและเข้าไปกินเชื้อโรคดังกล่าวซึ่งทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ

ระหว่างเดินทางกลับ Odessa เขาแวะที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียและอธิบายแนวคิดนี้แก่ Carl Friedrich Claus (1835–1899) ศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาและกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบที่กรุงเวียนนา Claus เป็นคนเสนอให้ตั้งชื่อเซลล์นี้ว่า phagocyte มาจากภาษากรีก “phago” ที่แปลว่า “กิน” กับ “kytos” ที่แปลว่า “เซลล์”

ค.ศ. 1883 Mechnikov เสนอบทความแรกเกี่ยวกับกระบวนการ phagocytosis ที่ Odessa ความสำคัญของการค้นพบนี้ทำให้เขาเลิกมองโลกในแง่ร้ายและหันมามุ่งมั่นพิสูจน์แนวคิดของเขา

ค.ศ. 1886 เขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันใหม่ที่ Odessa เพื่อดำเนินการเรื่องวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของปาสเตอร์ แต่ท้องถิ่นนั้นไม่ค่อยยอมรับการใช้วัคซีนนี้ประกอบกับเขาไม่ได้จบทางการแพทย์ด้วยการทำงานจึงยิ่งยากลำบาก ค.ศ. 1888 เขาจึงย้ายไปยังกรุงปารีสเพื่อขอคำแนะนำจากปาสเตอร์ สถาบันปาสเตอร์มอบตำแหน่งพร้อมกับห้องปฏิบัติการให้ เขาจึงอยู่ที่นั่นจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

นอกจากงานด้านภูมิคุ้มกันวิทยาแล้ว Mechnikov ยังศึกษาเรื่องสาเหตุของความชราอีกด้วย จากการที่ชาวบัลกาเรียมีอายุยืนเขาจึงเสนอสมมติฐานว่าความชราเกิดจากแบคทีเรียที่สร้างสารพิษในลำไส้ การหยุดยั้งแบคทีเรียเหล่านี้ทำได้โดยการกินโยเกิร์ตซึ่งผ่านการหมักของแบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติกนั่นเอง ค.ศ. 1905 Stamen Grigorov (1878-1945) แพทย์ชาวบัลกาเรียค้นพบว่าโยเกิร์ตเกิดจากการหมักของแบคทีเรียรูปแท่งที่ชื่อ Lactobacillus delbrueckii subsp. Bulgaricus (delbrucekii ตั้งตามชื่อ M. Delbrueck นักแบคทีเรียวิทยาชาวเยอรมัน)

Mechnikov ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 1908 จากการค้นพบกระบวนการ phagocytosis และต่อมาเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1916

แนวคิดเรื่องสาเหตุความชราของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้แพทย์ชาวญี่ปุ่น Minoru Shirota (1899-1982) เพาะเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ที่สร้างกรดแลคติกอย่างแรงชื่อ Lactobacillus casei strain shirota ในปี ค.ศ. 1930 และใช้ผลิตนมเปรี้ยวออกสู่ตลาดเมื่อปี ค.ศ. 1935 ในชื่อการค้าที่เรารู้จักกันดีคือ “ยาคูลท์ (Yakult)” นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

http://nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1908/mechnikov-bio.html

ไม่มีความคิดเห็น: